ข้อมูลทางวัฒนธรรม

ประวัติความเป็นมา

อ่างศิลา

อ่างศิลาเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเมืองชลบุรี โดยหลักฐาน ทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า อ่างศิลาเป็นดินแดนแห่งความงาม ที่ยังความสุข ความสบายเป็นที่สำราญพระราชอิริยาบถ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาแล้วหลายรัชกาล โดยเฉพาะมีพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งกล่าวถึงนามของตำบลไว้ว่า

เพราะมีแผ่นดินสูงเป็นลูกเนิน มีศิลาเป็นก้อนใหญ่ เป็นศิลาดาด จึงได้ชื่อว่า “อ่างศิลา”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องราวเกี่ยวกับอ่างศิลาไว้ว่า อ่างศิลาเป็นดินแดนสำคัญขึ้นมาเมื่อไรไม่ทราบแน่ แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) อ่างศิลาเป็นที่ที่ชาวตะวันตกนิยมมาตากอากาศ และส่งผู้ป่วยมาพักฟื้นเพราะเป็นที่ที่มีอากาศดี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เคยเสด็จประพาส และประทับค้างแรมที่อ่างศิลาหลายครั้ง ด้วยโปรดว่า เป็นที่ที่มีอากาศดี

แต่ถึงแม้ว่าจะเคยเสด็จมาประทับค้างแรมหลายครั้ง ก็มิได้ทรงสร้างวังที่ประทับขึ้นแต่อย่างใด โปรดเกล้าฯให้สร้างแต่เพียงพลับพลาเล็กหลังเดียว เวลาประทับค้างแรมจะประทับค้างแรมในเรือพระที่นั่ง และเนื่องจากท่าเรือที่อ่างศิลามีศิลาใต้น้ำมาก เวลาน้ำลงจะมีศิลาและเลนลาดออกไปจากชายฝั่งเป็นระยะทางยาว ไม่สะดวกในการจอดเรือเทียบท่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกรมท่าสร้างสะพานหินให้ยาวออกไปในทะเลจนพ้นเขตศิลาใต้น้ำ ต่อมาสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหกลาโหม ได้สร้างตึกไว้เป็นที่พักฟื้นของคนป่วยหลังหนึ่ง (หลังใหญ่) เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (เจ้าคุณกรมท่า) สร้างอีกหลังหนึ่ง (หลังเล็ก) ตึกนี้ชาวต่างประเทศได้ไปพักอาศัยอยู่เสมอ เรียกกันในสมัยนั้นว่า “อาศรัยสถาน”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสชลบุรีหลายครั้ง แต่ละครั้งได้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นจดหมายเหตุไว้เป็นหลักฐาน ทำให้ชนรุ่นหลังได้ทราบถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินแล้วยังทำให้ชนรุ่นหลังมองเห็นสภาพจังหวัดชลบุรีในสมัยนั้นได้ดีเป็นพิเศษ จดหมายเหตุเหล่านั้นล้วนเป็นอมตพระราชนิพนธ์ที่สร้างความภาคภูมิใจแก่ชาวจังหวัดชลบุรีมาทุกยุคทุกสมัยเพราะเป็นหลักฐานแสดงว่าพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณใกล้ชิดสนิทสนมกับชาวชลบุรีมาก

จากพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุฉบับวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2419 จะจบด้วยประโยคที่ว่า “ที่อ่างศิลา เป็นที่สนุกแลเป็นที่สบายมาก เราอยากจะใคร่อยู่นาน ๆ แต่ไม่ใคร่จะมีเวลาจะไปอยู่พ้น 10 วันเลย”

ที่มา หนังสือ อ่างศิลาวันวาน…ถึงวันนี้

อิฐบ่อน้ำเจ้าจอมมารดาดารารัศมี

(เจ้าจอมฯ ร.5)

เจ้าจอมมารดาดารารัศมี เป็นธิดาของเจ้านครเชียงใหม่ เจ้าอินทวิไชยานนท์ ได้เข้ามารับราชการฉลองพระเดช พระคุณในตำแหน่งพระสนมเอก ในรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว

เจ้าจอมมารดาดารารัศมี ทรงป่วยกระเสาะกระแสะ เรื้อรังมาช้านานได้ทรงพักรักษาพระองค์ที่พระตำหนักราชินีตำบลอ่างศิลา เมื่อพุทธศักราช 2449 เพราะตำบลอ่างศิลามีอากาศดี เป็นที่พักตากอากาศชายทะเลแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชวงศ์ ขุนนาง และ ชาวต่างประเทศนิยมมาพักผ่อนตากอากาศและพักพื้นจากการเจ็บไข้ ขณะที่ทรงรักษาพระองค์อยู่นั้น ทรงเห็นว่า ตำบลอ่างศิลากันดารน้ำจืด จึงมีพระประสงค์ให้ตำบลอ่างศิลาและผู้ที่จะมาในที่นี้มีน้ำจืดไว้ใช้ ทรงให้ พระยาศรีธรรมาธิราชได้ว่าจ้างขุดบ่อ ขณะนั้น ประชาชนในตำบลอ่างศิลามีชาวจีนมากกว่าคนไทยเป็น 3 เท่า จากราษฎรทั้งหมด 740 คนเศษ

การดำเนินการขุดบ่อ เมื่อขุดบ่อแรกปรากฏว่าไม่มีน้ำจืดจึงต้องย้ายที่แห่งใหม่อีก และได้น้ำจืดที่เป็นตาน้ำมีน้ำดี ลักษณะบ่อน้ำที่ขุด เป็นบ่อกว้าง 6 ศอก ทรงสี่เหลี่ยม ค่าจ้างและค่าไม้ สิ้นเงิน 310 บาท และได้ทรงสร้างศาลาเป็นที่พักซึ่งจะไปตักน้ำหลังหนึ่งสิ้นเงิน 345 บาท รวมเป็นเงิน 655 บาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนสมมตอมรพันธุ์ เจ้ากรมสมมต เป็นผู้หาแผ่นศิลา เขียนถวายภัตตาหารพระสงฆ์ วันที่ 27 – 28 มิถุนายน ร.ศ. 125

จากแผนผังที่แนบได้แสดงระยะทางจากวัดอ่างศิลา ถึงบ่อน้ำประมาณ 500 เมตร ที่สร้างไกลออกมาจากอาศรัยสถานและวัดอ่างศิลาเพราะต้องการน้ำจืด บ่อหมายเลข 4 มีลักษณะและขนาดเท่ากับบ่อหมายเลข 1 ซึ่งมีขนาดบ่อใหญ่กว่าบ่อน้ำอื่น ๆ

อิฐนี้ตามรูปเต็มมีขนาดเป็นสี่เหลี่ยม ขนาด 25 x 45 ตารางเซนติเมตร มีอยู่ที่บ่อหมายเลข 1 และหมายเลข 4 ตามแผนผังในหนังสืออ่างศิลาวันวาน……ถึงวันนี้

อิฐนำมาจากบ่อหมายเลข 1 ที่หลงเหลืออยู่ข้างบ่อเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2541 โดย นายสิทธิชัย อิ่มอ่อง และนายจุมพล หงส์ทอง เพื่อรอการพิสูจน์จากสำนักโบราณคดี กรมศิลปากรใช้วัสดุอิฐบุรอบบ่อแบบเดียวกัน แต่บ่อหมายเลข 1 มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมอยู่บ้างกว่าบ่อหมายเลข 4 และเป็นที่ที่ประชาชนจัดทำพิธีกองข้าวมาแต่โบราณ มีร่องรอยซ่อมแซมบ่อน้ำมาโดยตลอด ปัจจุบันที่บ่อหมายเลข 1 นี้ได้เขียนชื่อคนซ่อมไว้ที่ปากบ่อว่า “วันที่ 25 – 29 เมษายน 2539 ผู้ซ่อมแซม นายอวบ เหลืองอร่าม, นายแหลม เวสารัช และนายสุเมธ ลาภากรณ์ (ผู้ริเริ่มดำเนินการ)”

ที่บ่อหมายเลข 3 บุรอบด้วยอิฐทรงโค้งและมีศาลาที่พักอยู่หลังหนึ่ง จากการบอกเล่าของผู้เฒ่าว่า บ่อหมายเลข 1 เดิมมีป้ายชื่อติดไว้ด้วยศิลา แต่อักษรมองเห็นไม่ชัด ได้มีหลักฐานของก้อนอิฐจากบ่อหมายเลข 1 ไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดชลบุรี โรงเรียนชลกันยานุกูล รอการพิสูจน์ระบุถึงบ่อนพรัฐ จากผู้รู้ในโอกาสต่อไป

ที่มา หนังสือ อ่างศิลาวันวาน…ถึงวันนี้ และ หนังสือ โครงการวัฒนธรรมไทย สายใยชุมชน ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

ค่ายหลวงตำบลอ่างศิลา ณ วันเสาร์ แรม 7 ค่ำ เดือน 2  ปีชวดอัฐศก ศักราช 1238

เมื่อเวลาคืนนี้ ที่เรือเราต้องแก้ไขเครื่องจักรแลเครื่องต่างๆ ซึ่งไม่เรียบร้อยนั้นให้ดีขึ้นเป็นปกติ เวลา ย่ำรุ่ง 15 มินิต เราได้ออกเรือจากแสมสาร เรือเดินดีเรียบร้อยขึ้นกว่าแต่ก่อน มีเหตุบ้างเล็กน้อยแต่ใบจักรชำรุด ต้องหยุดแก้ไขบ้างครู่หนึ่งแล้วแล่นต่อไป เมื่อขณะเรือมาตามทางนั้นเห็นปลาโอผุดเป็นหมู่หลายสิบตัว เวลาเที่ยงเรือมาถึงที่อ่างศิลา แลดูบนฝั่งเป็นที่แผ่นดินสูงขึ้นไปหน่อยหนึ่ง เห็นเรือนสูง ๆ ขึ้นไปกว่ากันเป็นลำดับดูงามดีคล้าย ๆ กับที่ปีนัง เราลงเรือโบดขึ้นบกเวลาบ่ายโมงครึ่ง มีพระยาจางวางเมืองชลแลกรมการเมืองชล พระยาบางละมุงแลพวกเมืองบางละมุงมาคอยรับอยู่หลายสิบคน เราได้พบพระยาบำเรอกับพระสุนทราซึ่งท่านกรมท่าเขาให้มาจัดการอยู่ก่อนนานแล้ว ได้พูดกับพระยาบำเรอ พระสุนทรา และกรมการนิดหน่อย แล้วก็เดินเข้าไปในค่ายหลวง แต่เราเห็นพระยาชลเลื่อนขึ้นเป็นจางวางดูเหมือน กระชุ่มกระชวยขึ้นกว่าแต่ก่อนสักหน่อยหนึ่ง เรามาถึงที่ท้องพระโรงแลดูเห็นเรือที่เราอยู่ดูเหมือนกับยังใหม่แรกทำไม่สู้ผิดกันนัก ท่านกรมท่าให้ปลัดจีนเมืองชลมาเป็นผู้รักษาอยู่ที่นี่คนหนึ่ง เขาเอาใจใส่รักษามาก เป็นคนดีจริง ๆ

เราได้ยอมกับท่านกรมท่าว่า จะให้ยกบ้านอ่างศิลานี้เป็นเมืองหนึ่งขึ้นเมืองชลบุรี เพราะเห็นว่า คนก็มีมาก ถ้าเป็นถ้อยร้อยความกันขึ้นแล้วก็ต้องไปว่าความถึงเมืองชลเป็นทางไกลได้ความลำบาก จะตั้งให้ปลัดที่เป็นผู้รักษาอยู่เดิมนั้นเป็นเจ้าเมือง เรามาถึงที่นี่ได้พบลูกหญิงกลาง หญิงเล็กทั้ง 2 คนด้วย เมื่อก่อนเราจะมานั้นได้สั่งให้ยายภามาคอยอยู่ที่นี่ อนึ่ง เราได้รับหนังสือบางกอกมาด้วย เรือปานมารุตมีหนังสือคุณสุรวงษ์ฉบับหนึ่งว่าในกรุงเทพฯ ไม่มีราชการสิ่งใด แล้วได้รับหนังสือเทวัน 2 ฉบับ ทวีฉบับหนึ่ง เทวันฝากโซดาวอตเตอร์มาให้ถังหนึ่ง กับส่งรูปซึ่งถ่ายไว้เมื่อจวนจะมาออกมาให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย

เรามาครั้งนี้เห็นหน้าเจ้านายมาเกือบจะหมดแต่ทวีกับเทวันไม่ได้มา ทวีนั้นจวนจะถึงกำหนดตั้งกรมของเขา เขาลาอยู่ จัดการและจะชำระความที่ค้าง ๆ ให้แล้วด้วย เทวันนั้นเราไปไหนยังไม่เคยขาดเลย ได้ไปด้วยกันทุกคราว ตั้งแต่เล็กมาจนโต พึ่งมาขาด 2 คราวเมื่อไปบางปะอิน วานซืนนี้คราวหนึ่งกับคราวนี้อีกเป็นทางไกล นึกคิดถึงมากถ้าหากว่ามาคงจะได้ช่วยในการเยอรแนลแข็งแรงทีเดียว

อนึ่งเจ้านายผู้หญิงฝากของกินมาให้มากหลายองค์ คือ พระองค์แม้นเขียน พระองค์แสงจันทร์ พระองค์สุบงกช กับพวกเราอีก 13 คน 14 คน ถ้าจะออกชื่อก็จะต้อง ยืดยาวมากไปนับเอาเสียว่าหมดทั้งนั้น แล้วกาพย์มาบอกว่า ทวีกับพระนายศรีฝากของกินมาให้อีก แลได้หนังสือเจ้าคุณกลางพระยานรนาถคนละฉบับ เปิดออกดูไม่มีความอะไรเป็นแต่บัญชีของกินทั้งนั้น เวลาบ่าย 5 โมงแล้ว ลงเรือยอตช์อรเทพลักษณ์ มีแล่นใบไปเล่นตามอ่างศิลา คนที่ลงในเรือท่านเล็ก กรมนเรศร์ หมอสายสรรพเพธกาพย์ มีคนสำหรับเรือ 2 คนกับคนเรือโบดคนหนึ่ง เรือยอตช์ของเรามีอีกลำหนึ่งชื่อว่า ปีบุษบันนั้นให้พระพิเรนทร์กับตำรวจไป พระนายไวยเขาลงเรือยอตช์ของเขาเอง ซึ่งเราให้ชื่อว่า นาคโปดก แล่นตามไปด้วยจนถึงโป๊ะที่ 2 กลับเข้ามาท่าแล้วมาถึงเรือนเวลาย่ำค่ำ 45 มินิต เมื่อเวลาเรามาถึงสักครู่หนึ่ง มีฝนตกประปรายบ้างเล็กน้อยแล้วก็หายไป เราได้พบกับเจ้าปฤษฎางค์ซึ่งออกมาด้วยเรือปานมารุตในวันนี้ แล้วแต่งหนังสือเยอรแนลอยู่จน 2 ยามเข้านอน ค่ำวันนี้ลมจัดมากเสียงคลื่นดังซู่ ๆ แต่ไม่สู้หนาวนัก ปรอทเพียง 70 ดีครี

ค่ายหลวงตำบลอ่างศิลา ณ วันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 2  ปีชวดอัฐศก ศักราช 1238

เวลาสายแล้ว เราตื่นนอนแต่งตัวออกไปนั่งที่ท้องพระโรงแล้วให้สัญญาบัตรพระยาชลบุรีเก่า เลื่อนเป็นพระยาวิชิตชลเขตรวิเศษศักดานนท์พหลภักดี จางวางผู้กำกับเมืองชลบุรี ในเวลาวันนี้เราคิดจะไปแล่นใบเล่นแต่วันหน่อยหนึ่ง แต่คลื่นลมจัดจึงได้รอเสีย ต่อบ่ายจึงจะไป แล้วไปนั่งดูเขาทำทองอ้ายเจ๊กด้วงเป็นช่างอยู่ที่บางปลาสร้อย เดิมเมื่อคราวก่อนเราอยากจะทำลูกประคำกัลปังหา ให้ทิพมงคลเขาทำ เครื่องมือไม่มีมาจึงได้ไปบางปลาสร้อย ไปคบค้ากับเจ๊กคนนี้แล้วพามาถวายตัว เราให้เงินไว้ 3 ตำลึงแทนเบี้ยหวัด มาคราวนี้มันจึงเอาลูกประคำกัลปังหากลึงเรียบร้อยดีมาให้ 2 สาย เราให้เสื้อมันตัว 1 กับจะให้เงินแทนเบี้ยหวัดเสียด้วยแล้วมาแต่งตัว ครั้นกินข้าวแล้วเวลาบ่าย 2 โมงเราลงเรือยอตช์ลำเก่า วันนี้กรมขุนท่าโดยสารไปด้วยหมายว่าจะไปสามมุขท่านอยากเห็น กับกาพย์นั้นกรมอดิศรมาเปลี่ยนแทน คนนอกนั้นก็ไปตามเดิม แต่วันนี้มีมหาดเล็กบ้างทหารบ้างลงเรือฉลอมแล่นไปตามเราหลายลำ แล่นก้าวออกรอยหนึ่ง ก้าวเข้ารอยหนึ่ง ถึงบางปลาสร้อยแล้วแล่นตามลมมาขึ้นที่ตะพานเห็นเวลายังวันอยู่จึงเดินตามทางซ้ายมือถึงวัดใน แล้วเลี้ยวไปทางหมู่บ้านอ่างศิลา

เราซื้อหอยกระปุก 3 พวง ๆ ละ 2 ไพ กับหอยสังข์อีกสี่ร้อยห้าร้อย แล้วมาพบท่านกรมท่าที่มุมค่ายหยุดพูดกันนิดหน่อยแล้วเดินกลับเข้าในค่าย พออาบน้ำแล้วคุณปริกกับคุณพลอยมาหาคุณปริกเอาปูเล็ก ๆ มาให้ 2 ตัว ปูนั้นมีก้ามมีขาพร้อม ตัวลายเป็นมันน่าเอ็นดู เราจึงให้กมลาศไปทำเป็นเข็มปักผ้าผูกคอทั้งสองตัว สัก 2 ชั่วโมง ก็แล้วทั้ง 2 อัน เราเอาไว้อันหนึ่ง ให้ท่านกรมท่าอันหนึ่ง แล้วเราไปจากคุณปริก ไปนั่งพูดอยู่กับท่านกรมท่าที่หน้าท้องพระโรง เจ้าต๋งเอากัลปังหาแดงกับขาวซึ่งเราให้เอาไปทำก้านนั้นมาให้เธอช่างประดับประดาดูงามทีเดียว

แต่เป็นการปัจจุบันใช้ไม้ทำเป็นฐานแล้วเอาขี้ผึ้งไล้ที่กลางนั้น เอาฟองน้ำทำเป็นก้อนศิลาเหมือนที่กัลปังหางอกจริง ๆ แล้วเอากัลปังหาทั้ง 2 ต้นติดไว้ ข้างล่างเอาหอยเล็ก ๆ ประดับเป็นพื้น แล้วเอาหอยใหญ่เกาะเป็นหมู่ ๆ วางท่วงทีดีนัก ที่ตีนฐานนั้นรองด้วยเบี้ย 4 เบี้ยแทนลูกแก้ว หรือหน้าสิงห์โต เธอยังรับไปถึงบางกอกจะทำให้ใหม่ ที่จริงนั้นหัวเธอดีจริง ๆ ช่างคิดทำอะไร ๆ เล่นหลายอย่างในการแผลงแล้วไม่มีใครสู้ เวลา 2 ทุ่มเศษกินข้าวแล้วเขียนหนังสือ 5 ทุ่มเศษเข้านอน ธอมอเมตเตอร์ 75 ดีครีวันวานค่าย 3-4

ค่ายหลวงตำบลอ่างศิลา ณ วันจันทร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 2  ปีชวดอัฐศก ศักราช 1238

เวลา 2 โมง เราออกมานั่งที่ท้องพระโรงแล้วเข้าไปในสวน เอาเสื้อแจกให้พวกช่างทองที่เขาทำการ แล้วกินข้าว พอกินข้าวแล้วเดินออกมาที่ประตูสวน พบพึ่งเมียขุนศรีบ้านเกาะสีชังตามเอาของมาให้ บอกว่าเรือโบดสำหรับเรือเขจรที่ไปแตกเสียที่เกาะสีชังนั้นได้ยาแล้ว พามาส่งด้วย เราให้เงินสามตำลึง แล้วไปลงเรือใบลำเก่า คนที่ไปนั้นกรมขุนกับท่านกลางไปด้วย แต่วันนี้เอ็ดเดอแกมป์ขาดไปไม่มีใครได้ออกเรือเวลาบ่าย 2 โมง 15 มินิต แล้วก้าวขึ้นไปข้างเหนือทอดสมอหน้าบางปลาสร้อย เวลาบ่าย 4 โมง 17 มินิต เราหยุดกินข้าวเสียก่อนแล้วจึงได้ขึ้น เมื่อเวลาเรือจอดนั้น เจ้าชื่นเป็นคนสำหรับตั้งโต๊ะของเรา แต่ก่อนได้มาเป็นยกกระบัตรมาคอยรับอยู่ในที่นั้น เรา เรียกให้เข้ามาช่วยจัดของเลี้ยงเจ้านายที่ไปกับเรา พอกินข้าวแล้วเรือทหารที่ตามมาถึงพร้อมกัน เราลงเรือโบดลำเล็ก 2 กรรเชียงซึ่งติดไปกับเรือใบ หมอสายกับกรมนเรศร์ตีกรรเชียง 2 คน เราถือท้าย ท่านเล็กท่านกลางไปด้วย แต่กรมขุนกับสรรพ์เพธนั้นลงเรือกระบัตรไป เรือเราจอดห่างตะพานเพราะน้ำลงเป็นเลนออกมามาก ต้องตีกรรเชียงไปไกล เมื่อเกือบจะถึงตะพานมีคนมาคอยเข็นเรือเราถอดหางเสือแล้วให้เขาเข็นเรือขึ้นไปบนเลน ไม่มีน้ำเลย ไปถึงตะพานแล้วเราขึ้นบกเดินไปตลอดแถวตลาด แต่เวลาที่ไปนั้นเย็นเสียแล้ว เมื่อขึ้นถึงตะพานเวลา บ่าย 5 โมงตลาดเขาเลิก เราเดินกลับมาลงเรือแล่นใบกลับมาถึงตะพานอ่างศิลาเวลาทุ่ม 1 กับ 50 นินิต กลางคืนวันนี้ไม่มีสิ่งไร ทำหนังสือบ้างเล็กน้อยเข้านอน ธอมอเมตเตอร์ 47 ดีครี

ค่ายหลวงตำบลอ่างศิลา ณ วันอังคาร แรม 10 ค่ำ เดือน 2 ปีชวดอัฐศก ศักราช 1238

เวลาเช้าตื่นนอนแล้วลงไปเล่นอยู่ในสวน จนเวลาบ่าย ๔ โมงแต่งตัวแล้วได้ไปลงเรือใบ คนเหมือนเมื่อวานนี้ แต่กรมขุนไม่สบายท่านไม่ไปด้วย เอดเดอแกมป์กรมอดิศรไปด้วยถึงบางปลาสร้อยเวลา 3 โมงครึ่ง ขึ้นบกไปซื้อของต่าง ๆ แล้วกลับมาลงเรือ เมื่อเราไปถึงตะพานนั้นพระยาจางวางเมืองชลเอาผ้าพื้นมาคอยให้ 10 ผืนกับของกินเครื่องซ่ม มีน้ำปลากุ้งแห้งมาด้วย เราลงเรือแล่นใบมาถึงอ่างศิลาเวลาย่ำค่ำ 50 มินิต ขึ้นไปบนพลับพลาแล้ว เมื่อเวลา 2 ทุ่มเศษ กรมการเมืองชลกับเมืองบางละมุง เมืองพนัสนิคม 17 คนเอาผ้าพื้นแลเอาของ ต่าง ๆ มาให้ ให้เสื้อคนละตัว วันนี้มิสเตอร์ยุกเกอร์กับมิสเตอร์ฟอช ห้างบอเนียวกัมปนีมาหา เราให้ผ้าโสร่งจันทบุรีคนละผืนแล้วไปกินข้าว เวลา 5 ทุ่มเข้านอน ธอมอเมตเตอร์ 70 ดีครี เราอยากจะว่าด้วยตำบลอ่างศิลานี้สักหน่อยหนึ่ง ได้ขอให้ท่านกรมท่าจดหมายการต่าง ๆ ในตำบลนี้ แต่ท่านกรมท่าได้เรียงเป็นเรื่องราวมาเรียบร้อยดีแล้ว เราเห็นว่าไม่ควรจะแต่งใหม่ จึงคัดเอาของท่านกรมท่าเรียงมานั้นลงต่อไป “ตำบลอ่างศิลาแขวงเมืองชลบุรี มีบ้านราษฎร 189 เรือน ราษฎรที่เป็นไทย 180 คนเศษ ราษฎรจีนมาแต่เมืองจีนและเกิดเมืองไทย 560 คนเศษ รวมราษฎรไทยจีน ชายหญิงในบ้านอ่างศิลา 740 คนเศษ ในแขวงบ้านอ่างศิลานั้น หลวงฤทธิศักดิ์ชลเขตร หลวงพิทักษ์จีนประชา 2 นายนี้เป็นปลัดเมืองชลบุรี เป็นผู้ใหญ่บ้าน เพราะหลวงฤทธิศักดิ์ชลเขตร หลวงพิทักษ์จีนประชาได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ อ่างศิลา

ในบ้านอ่างศิลามีวัด 2 วัด เรียกชื่อว่า วัดนอก วัดใน วัดในมีพระสงฆ์ 10 รูป วัดนอกมีพระสงฆ์ 13 รูป เป็นวัดเดิมมีมาแต่โบราณ ไม่ปรากฏว่าผู้ใดสร้าง แลมีตำบลบ้านใกล้เคียง 5 ตำบล ตำบลบ้านข้างเหนือต่อเมืองชลบุรี คือ บ้านเสม็ด ทางไปจากบ้านอ่างศิลา 160 เส้น มีราษฎรชาวบ้านชายหญิงไทยจีน 80 คนเศษ บ้านยิสุดทางไปจากบ้านอ่างศิลา 70 เส้นเศษ มีราษฎรชาวบ้านชายหญิงไทยจีน 40 คนเศษ บ้านหัวโปรงทางไปจากบ้านอ่างศิลา 80 เส้นเศษ มีราษฎรชาวบ้านชายหญิงไทยจีน 120 คนเศษ บ้านโรงนอกทางไปจากบ้านอ่างศิลา 80 เส้นเศษ มีราษฎรชาวบ้านชายหญิงไทยจีน 200 คนเศษ ข้างใต้ต่อพรมแดนกับบางละมุง บ้านเนินมะกอกทางไปจากอ่างศิลา 100 เส้น มีราษฎรชาวบ้านของหญิงไทยจีน 200 คนเศษ รวมคนบ้านอ่างศิลาแลบ้านใกล้เคียง 1,380 คนเศษราษฎรตำบลบ้านอ่างศิลาหากินด้วยทำโป๊ะจับปลาทะเล ลงเผือกจับปลาตามชายทะเล ลากเบ็ดในทะเล ถีบกระดานเก็บหอยตามเลน แลปักหลักจับหอยแมงภู่ในฤดูเดือน 12 จนถึงเดือน 2 เป็นฤดูปลาทูเข้าโป๊ะ

ราษฎรเจ้าของโป๊ะได้ปลาแล้วทำเป็นปลาทูเค็มบรรทุกเรือเข้าไปจำหน่าย ณ กรุงเทพฯ เป็นสินค้าไปเมืองต่างประเทศปีหนึ่งเป็นปลาสิบหมื่นตัวเศษตั้งแต่เดือน 5 ไป จนถึงเดือน 7 ราษฎรจับหอยแมงภู่ที่หลักปักไว้ในทะเลมาต้มแล้วเก็บเนื้อหอยผึ่งแดดแห้งแล้วบรรจุกระสอบ บรรทุกเรือไปขายในกรุงเทพฯ ชั่งน้ำหนักเป็นสินค้าจำหน่ายไปเมืองต่างประเทศปีหนึ่ง 1,300 หาบเศษ

แลราษฎรที่ทำโป๊ะจับปลาในทะเลนั้นทำได้แต่ฤดู เดือน 12 ไปจนถึงเดือน 3 เป็นฤดูลมตะเภาพัดกล้าคลื่นจัดโป๊ะแตก ต้องหยุดการจับปลาไปจนเดือน 12 ใน ระหว่างที่หยุดการจับปลาทำโป๊ะไม่ได้นั้นราษฎรทำมาหากินด้วยลงเฝือกลากอวนจับปลา แลถีบกระดานเก็บหอยชายทะเล แลผู้หญิงเด็กนั้นต่อยหอยนางรมด้วยค้อนเหล็กตามก้อนศิลาชายทะเลเมื่อเวลาน้ำลงขอดแลปลาที่จับได้ในเผือกแลลากอวน ลากเบ็ดกับหอยนางรมที่ต่อยได้นั้น ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันกินอยู่ในแขวงบ้านอ่างศิลา แลบ้านใกล้เคียงไม่ได้เป็นสินค้าใหญ่ไปต่างเมือง แลปลาทูกับหอยแมงภู่ที่มีการกำหนดว่า ราษฎรทำได้ปีหนึ่งเป็นปลาเท่านั้นตัว หอยแมงภู่เท่านั้นหาบนั้นคะเนตามปีที่ได้เป็นอย่างกลาง ลางปีก็ได้น้อยลงไปกว่านี้บ้าง แต่ผิดกันไม่มากทั้งปลาทูและหอยแมงภู่

ราษฎรชาวบ้านเสม็ด บ้านยิสุด บ้านหัวโปรง บ้านโรงนา บ้านเนินมะกอก ที่เป็นบ้านดอนอยู่ใกล้เคียงกับบ้านอ่างศิลานั้นราษฎรชาวบ้านทำการหากินด้วยทำนาข้าว สิ้นฤดูทำนาแล้วทำไร่แตงอุลิด ไร่ถั่วลิสง ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันกินอยู่ในแขวงบ้านใกล้เคียง แต่ถั่วลิสงนั้น บรรทุกเกวียนไปขายที่เมืองชลบุรี ทำน้ำมันถั่วเป็นสินค้าจำหน่ายเข้าไป ณ กรุงเทพฯ แลจำหน่ายไปตามหัวเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกับบ้านอ่างศิลานั้น พาหนะที่ราษฎรใช้สอยอยู่ในพื้นบ้านนั้นใช้เรือฉลอม กระบือ เกวียน กระบือนั้นใช้ทำนาแลใช้เทียมเกวียน ราษฎรที่บ้านอยู่ริมชายทะเลใช้เรือฉลอมสำหรับออกเที่ยวจับปลาในทะเลแลบรรทุกปลาไปขายต่างเมืองที่อยู่ใกล้เคียง เรือฉลอมนั้นใช้ใบสาคูรูปใบเป็นสี่เหลี่ยม เรือยาว 4 วา 2 ศอกบ้าง 5 วาบ้าง 6 วาบ้าง ตัวเรือนั้นมีช่างสำหรับทำขายที่เมืองชลบุรีทำด้วยไม้ตะเคียน แต่เกวียนนั้นราษฎรทำใช้เองทุกบ้าน ในตำบลอ่างศิลานั้นราษฎรไทยจีนชาวบ้านถือว่า เป็นที่ดีไม่มีป่วยไข้สิ่งไรเพราะในเวลาที่คนเป็นโรคป่วงใหญ่มาแต่ก่อนทุกครั้งทุกคราวนั้น คนชาวบ้านอ่างศิลาก็ไม่ได้เป็นโรคป่วงใหญ่เลย คนชาวบ้านอ่างศิลาก็ไม่ได้เป็นอันตรายด้วยโรคป่วงใหญ่

แลที่เรียกชื่อว่าอ่างศิลานั้น เพราะมีแผ่นดินสูง เป็นลูกเนิน มีศิลาก้อนใหญ่ ๆ เป็นศิลาดาด แลเป็นสระยาวรีอยู่ 2 แห่ง ๆ 1 ลึก 7 ศอก กว้าง 2 ศอก ยาว 10 วา แห่ง 1 ลึก 6 ศอก กว้าง 3 วา 2 ศอก ยาว 7 วา เป็นที่ขังน้ำฝน น้ำฝนไม่รั่วซึมไปได้ ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ มหาโกษาธิบดีเห็นว่า เป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง จึงให้หลวงฤทธิศักดิ์ชลเขตรปลัดเมืองชลบุรีเป็นนายงาน ก่อเสริมปากบ่อกันน้ำมิให้น้ำที่โสโครกไหลกลับลงไปในบ่อได้ ราษฎรชาวบ้านแลชาวเรือไปมาได้อาศัยใช้น้ำฝนในอ่างศิลานั้น ลางปีถ้าฝนตกมากถ้าใช้น้ำแต่ลำพัง ชาวบ้านก็ได้ใช้น้ำทั้ง 2 แห่ง แลบ่ออื่นบ้างพอตลอดปีไปได้ ลางปีฝนน้อยราษฎรได้อาศัยใช้แต่เพียง 5 เดือน 6 เดือนก็พอหมดน้ำในอ่างศิลา แต่น้ำในบ่อที่อื่น ๆ ที่ราษฎรขุดขังน้ำฝนไว้ใช้นั้น มีอยู่หลายแห่งหลายตำบลถึงน้ำในอ่างศิลา 2 ตำบลนี้แห้งหมดไปแล้ว ราษฎรใช้น้ำบ่อแห่งอื่น ๆ ได้ จึงได้เรียกว่าบ้านอ่างศิลา มาจนทุกวันนี้” ซึ่ง ท่านกรมท่าจดหมายนั้นมีความเพียงเท่านี้

แต่เราอยากจะพูดต่อไปอีกสักสองสามคำ ด้วยที่บ้านอ่างศิลานี้ เราไม่รู้ว่าได้เป็นที่สำคัญขึ้นในปีใดเป็นแน่แต่ในแผ่นดินทูลกระหม่อมมาแล้ว ฝรั่งเขานับถือว่า ที่นี่เป็นที่อากาศดีพอใจ มีคนที่เจ็บไข้ไม่สบายแล้วมาอยู่ในที่นี่บ่อย ๆ ทูลกระหม่อมก็ได้เสด็จมาหลายครั้ง โปรดว่า เป็นที่อากาศดีนัก แต่หาได้ทำเป็นรั้ววังอะไรขึ้นไม่ มีแต่พลับพลาเล็กหลังหนึ่ง เมื่อเสด็จไปในที่นั้นก็ประทับอยู่ในเรือพระที่นั่ง ทรงม้าไปประพาสที่ตะกาษหลังเขาสามมุขบ้าง ที่อื่น ๆ บ้าง แต่ท่าที่ขึ้นนั้นมีศิลามาก ถ้าเวลาน้ำแห้งก็เป็นเลนออกไป ห่างฝั่งหลายสิบเส้น จึงโปรดให้เจ้าคุณกรมท่าที่ตาย ออกมาทำตะพานศิลายาวออกไปพอพ้นที่ศิลาในน้ำตะพานนั้น ก็ยังได้ใช้อยู่จนทุกวันนี้ ในขณะนั้นสมเด็จเจ้าพระยาท่านก็ได้มาสร้างตึกขึ้นไว้สำหรับคนป่วยไข้ได้อาศัยหลังหนึ่ง ของเจ้าคุณกรมท่าสร้างหลังหนึ่ง ภายหลังคุณสุรวงษ์ไปทำไว้ข้างใต้ตะพานลงไปอีกหลังหนึ่ง ก็เป็นที่คนต่างประเทศไปมาอาศัยอยู่เสมอ ครั้นมาเมื่อปีวอกจัตวาศกเราขึ้นไปรับพระเศวตสุวภาพรรณที่เมืองสระบุรี แล้วไปพระพุทธบาท พระฉายแล้วเดินลงไปทางบ้านนครนายกถึงเมืองปราจีนบุรี ลงเรือที่เมืองปราจีนบุรีไปอ่างศิลาในครั้งนั้นท่านกรมท่าออกมาทำพลับพลารับเราคือหลังที่อยู่นี้ แต่การที่ทำนั้นไม่ได้คิดจะรื้อ หมายจะเอาไว้เป็นที่เราไปเที่ยวต่อไปจึงได้ทำเป็นค่ายหลวงใหญ่ มีท้องพระโรงและพระที่นั่งเรือนข้างหน้าข้างในใหญ่โตพร้อมทุก พนักงาน ในพลับพลาที่ทำนั้นออกจากความคิดท่านกรมท่าทั้งนั้น

ตัวพลับพลานั้นทำดีนักใช้ฝาแฝกทาสีขาว เขียวลายคราม หว่างที่พระนั่งเป็นที่เปิดออกอยู่ข้างหน้า มีเฉลียงรอบ เมื่อเราออกมาที่เฉลียงแล้วก็แลเห็นทะเลตลอดทีเดียว เป็นที่รับลมไม่ร้อนแลฝาที่เป็นฝาปิดข้างชั้นบทชั้นล่างใช้ไม้ระกำทั้งลำทาขาวเชิงล่างทาดำรอบเรือน บนเรือนเรานั้นกั้นห้อง 3 ห้อง ห้องหนึ่งเป็นห้องนอน ห้องหนึ่งเป็นห้องนั่ง อีกห้องหนึ่งนั้นยาวกว่าห้องทั้งปวง เป็นที่กินข้าวเพราะเจ้านายไปด้วยเราคราวละมาก ๆ ได้กินข้าวพร้อม ๆ กัน เฉลียงด้านหน้านั้นเป็นข้างหน้า เฉลียงด้านหลังเป็นข้างใน ที่ตามช่องกับประตูมีผ้าแดงเป็นฝากรุกั้นทุก ๆ ช่อง ถึงโดยจะเปิดหน้าต่างประตูก็ยังเป็นข้างหน้าข้างในอยู่ ที่ตามพนักเสารายเฉลียงนั้น มีม่านผ้าแดงร้อยสายลวดขึงตลอด มีมู่ลี่ทำด้วยไม้ระกำแขวนทุก ๆ ช่อง

ในเรือนนั้นมีเครื่องเรือนพร้อมทุกอย่าง คือ ติดกระจกรูปภาพต่าง ๆ มาก ในห้องนอนเรามีเตียงทองเหลืองและเตียงลด ทั้งตู้ผ้านุ่งและที่ล้างหน้า กระจกแต่งตัว เครื่องใช้ในห้องนอนพร้อมทุกอย่าง ที่ห้องนั่งนั้น มีโต๊ะเก้าอี้แพรแลตู้เขียนหนังสือ โต๊ะตั้งหอยต่าง ๆ แลขวดปักดอกไม้ ดูพอดีกันกับห้องทีเดียว ที่ห้องกินข้าวนั้นก็มีตู้สำหรับตั้งถ้วยชาม แล้วลงบันไดที่ปลายเฉลียงเรือน มาถึงท้องพระโรงข้างในติดกันกับท้องพระโรงหน้ามีผ้ากั้น แต่ท้องพระโรงนี้พื้นต่ำกว่าที่อยู่ทำเป็นที่โถง ๆ เกลี้ยง ๆ มีแท่นสำหรับเรานั่งและเพดานมีระบายพื้นปูเสื่อลวดจันทบุรี รอบนอกเป็นเฉลียงโถง มีเกยเสลี่ยงติดอยู่กับเฉลียงท้องพระโรงด้วย รอบรั้วค่ายนั้นมีห้องเครื่อง มหาดเล็กแลห้องพนักงานต่าง ๆ ทิมดาบตำรวจพร้อมทุกอย่างมีเสาธงปักอยู่ในหมู่ต้นไม้ มีต้นมะม่วงงาม ๆ หลายต้น พื้นเป็นหญ้าเขียว เว้นแต่ทางที่เดินข้างในนั้นมีตำหนักเสด็จยายหลังใหญ่แลเรือนอีกหลายหลัง ริมท้องพระโรงข้างในนั้นเป็นครัวคุณแพ ต่อไปมีประตูออกไปสวน ที่ในสวนนั้นมีต้นมะม่วงหลายสิบต้น เป็นที่ร่วมรื่นสบายนัก

ตามต้นมะม่วงนั้นมีชิงช้าหลายชิงช้า มีโรงที่สำหรับนั่งในกลางสวน เมื่อคราวแรกที่เราไปนั้น ท่านกรมท่าได้เอาใบไม้มาทำเป็นเขาวงกต ได้เล่นกันสนุกมาก ต่อออกมานอกค่ายด้านหน้านั้นเป็นหนทางใหญ่ลงมาถึงท่าน้ำแต่ไม่ตรง คดไปตามศิลาที่เป็นเนินสูงแลต่ำ สองข้างนั้นมีศิลาของเดิมแต่ช่วยตบแต่งบ้าง เหมือนหนึ่งกับเป็นเขามอบให้ทั้งนั้น ทางที่ไปเที่ยวมีหลายแห่ง ไปเมืองชลบุรีก็ได้ อีกทาง 1 ไปที่ตะกาษ แลไปที่บ่อน้ำร้อน แลในเร็ว ๆ นี้ได้เกิดตึกหลังใหม่อีกหลังหนึ่ง เป็นของท่านท่าทำใหญ่โตแต่ยังไม่แล้วเสร็จ ถ้าเราไปอยู่ที่นั้นจะขี่ม้าเล่นหรือลงเรือเล่นก็ได้ โป๊ะมีหลายโป๊ะที่หน้าอ่างศิลา จะไปดูจับปลาก็สนุกหรือเวลาน้ำลงไปที่ชายเลนก็จะได้ เห็นชาวบ้านถีบกระดานดูรวดเร็วคล่องแคล่วนัก ที่อ่างศิลาเป็นที่สนุกแลเป็นที่สบายมาก เราอยากจะใคร่อยู่ นาน ๆ แต่ไม่ใคร่จะมีเวลาที่จะไปอยู่พ้น 10 วันเลย”

จากพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะปรากฏว่า สมัยนั้นมีชนชาวจีนอยู่ในตำบลอ่างศิลาเป็นจำนวนมาก แต่ขณะนี้ปรากฏว่ามีชนชาวจีนเหลืออยู่น้อย โบราณสถานที่ยืนยันว่า มีชนชาวจีนอาศัยอยู่ในสมัยนั้นคือ “ศาลเจ้า” ที่ทางเข้าวัดเตาปูน ตำบลเสม็ดแห่งหนึ่งและศาลเจ้าตลาดอ่างศิลาอีกแห่งหนึ่ง ทั้งสองแห่งเป็นศาลเจ้าก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ ไม่ใช่ศาลเจ้าไม้ แสดงว่า ชาวจีนที่อยู่นั้น มีหลักฐานการอาชีพ มั่นคงดี ดูจำนวนราษฎรและหลังคาเรือนที่เป็นคนพื้นเพ ตำบลต่าง ๆ นั้น จำนวนไม่เพิ่มขึ้นมากนัก คนท้องถิ่นมักทิ้งถิ่นไปทำกินที่อื่นหมด ผิดกับสถิติในเมืองหรือในกรุง ส่วนการอาชีพต่าง ๆ ที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขา ก็กลับร่อยหรอลงไป เช่น ตำบลเสม็ดการทำไร่แตงโม ไร่ถั่วลิสง การทำนาก็เหลือน้อยไม่เป็นปึกแผ่น มีการทำไร่มันสำปะหลัง และสวนมะพร้าวขึ้นแทน ส่วนตำบลอ่างศิลายังมีการหาหอยนางรม จับหอยแมลงภู่ ตลอดจนการทำโป๊ะทำอวนอยู่ แต่ก็ไม่มั่นคงเจริญเท่าสมัยนั้น วัดอ่างศิลานอก อ่างศิลาใน ขณะนี้รวมเป็นวัดเดียวกัน จำนวนพระภิกษุสามเณร โดยเฉลี่ยแล้วก็ไม่มากไปกว่าเดิม

ตั้งแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบันอ่างศิลาหรือ อ่างหินก็มีการเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย ๆ ด้านชายทะเล ยังมี การทำโป๊ะจับปลาอยู่ มีการนำไม้มาปักเพื่อให้หอยแมลงภู่มาเกาะ ส่วนหอยนางรมมีการนำหินไปวางให้ หอยนางรมมาเกาะ และนำหอยนางรมตัวเล็ก ๆ มาผูกเชือกนำไปผูกเป็นราว แล้วนำไปไว้ในทะเล เมื่อโตได้ที่ก็นำมาแกะเปลือก รับประทานเนื้อได้ นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงกุ้งในกะชัง และบ่อเลี้ยง

ส่วนการทำผ้าทออ่างหิน ได้สูญไปแม้จะมีผู้ทอเป็นอยู่บ้างก็ขาดเครื่องมือ และผู้ทอก็มีแต่ผู้สูงอายุเป็นส่วนมาก แต่ขณะนี้กำลังรณรงค์ฟื้นฟูอาชีพนี้ขึ้นมาใหม่

ส่วนการทำครกหิน ยังมีการตีครกหินขายกันมาจนถึงปัจจุบันนี้และได้มีการพัฒนาการแกะสลักหินให้เป็นรูปต่าง ๆ ได้อย่างหลายหลาย ส่วนวัดในและวัดนอก ได้รวมกันเป็นวัดอ่างศิลาวัดเดียวและในปัจจุบันนี้ยังมีวัดโกมุทรัตนารามสร้างเพิ่มขึ้นมาอีก 1 วัด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช (รัชกาลที่ 9) ได้เสด็จฯ จังหวัดชลบุรีหลายครั้ง มีภาพประวัติศาสตร์ที่เสด็จฯ ที่ตำบลอ่างศิลาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2493 เป็นที่ปลื้มปิติแก่ชาวบ้านตำบลอ่างศิลาเป็นล้นพ้น

ที่มา หนังสือ อ่างศิลาวันวาน…ถึงวันนี้

หมวดหมู่ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้

พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราช

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับการสร้างท่าจอดเรือ และ “อาศรัยสถาน” ที่อ่างศิลา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อ่างศิลาได้กลายเป็นที่ตากอากาศและพักฟื้นของเจ้านายชั้นสูงของไทยและชาวต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เรื่องราวเกี่ยวกับอ่างศิลาไว้ว่า อ่างศิลาเป็นดินแดนที่มีความสำคัญขึ้นมาเมื่อไรไม่ทราบแน่ แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อ่างศิลาเป็นที่ที่ชาวตะวันตกนิยมมาตากอากาศ และส่งผู้ป่วยมาพักฟื้น เพราะเป็นที่ที่มีอากาศดี

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เคยเสด็จประพาสและประทับค้างแรมที่อ่างศิลาหลายครั้ง ด้วยโปรดว่าเป็นที่ที่มีอากาศดี แต่ถึงแม้จะเคยเสด็จมาประทับค้างแรมหลายครั้ง ก็มิได้ทรงสร้างวังที่ประทับขึ้นแต่อย่างใด โปรดเกล้าฯ ให้สร้างแต่เพียงพลับพลาเล็กๆ หลังเดียว เวลาประทับค้างแรมจะประทับค้างแรมในเรือพระที่นั่ง และเนื่องจากท่าจอดเรือที่อ่างศิลามีศิลาใต้น้ำมาก เวลาน้ำลงจะมีศิลาและเลนลาดออกไปจากฝั่งเป็นระยะทางยาว ไม่สะดวกในการจอดเรือเทียบท่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกรมท่าสร้างสะพานหินให้ยาวออกไปในทะเลจนพ้นเขตศิลาใต้น้ำ

การดูแลรักษาและหน่วยงานรับผิดชอบ

ปัจจุบันอยู่ในควานรับผิดขององค์การบริหารท้องท้องถิ่นเทศบาลเมืองอ่างศิลา ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบภารกิจในการบำรุงรักษาโบราณสถานขั้นพื้นฐานและการดูแลรักษาโบราณสถานในระดับท้องถิ่น

เดิมอยู่ในความรับผิดชอบการดูแลของกระทรวงมหาดไทยและมอบให้กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบ โดยคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภารับผิดชอบให้นำไปใช้ประโยชน์เป็นที่พักของสมาชิกคุรุสภาและบุคคลภายนอก เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2540 คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาได้พิจารณาปรับปรุงสถานที่ใช้บริการสมาชิกคุรุสภาและบุคคลภายนอกให้ได้ประโยชน์มากที่สุด จึงมีมติเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2540 มอบตึกให้กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการโดยกรมสามัญศึกษามอบให้สำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดชลบุรี ร่วมกับส่วนราชการจังหวัดชลบุรีและประชาชน กำหนดโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ ตึกมหาราชา ตึกราชินี เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภัคดีเฉลิมพระเกียรติในโอกาสทรงมีพระชนมายุ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 5 ธันวาคม 2542 (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดชลบุรี โรงเรียนชลกันยานุกูล, 2541, หน้า 37)

ลักษณะทางกายภาพของอาคาร

จำนวนอาคาร 2 หลัง ตึกมหาราชและตึกราชินี

ประเภทอาคาร เป็นที่อาศัย (เดิม) ไม่ได้ออกแบบเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์

ลักษณะอาคาร อาคารเอกเทศและใช้อาคารเดิมใช้เป็นส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและจัดแสดงเกี่ยวกับความจงรักภัคดีต่อพระมหากษัตริยเทิดพระเกียรติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

รูปแบบทางสถาปัตยกรรม รูปแบบที่รับอิทธิพลจากตะวันตกแบบเมืองขึ้นหรือสถาปัตยกรรมโคโลเนียน

สถาปัตยกรรมของตึกมหาราช

ในส่วนของรูปแบบทางสถาปัตยกรรมตึก “มหาราช” นั้นรูปทรงเป็นแบบอย่างที่เรียกว่า “อิทธิพลทางตะวันตกแบบเมืองขึ้น” เนื่องจากระยะเวลานี้อิทธิพลทางสถาปัตยกรรมแบบจีนยังมีอยู่มาก ทั้งเมื่อรับรูปแบบในลักษณะอิทธิพลตะวันตกแบบเมืองขึ้นเข้ามา จึงมีการผสมผสานทางสถาปัตยกรรม ระหว่างไทย กับ จีน และตะวันตก โดยเฉพาะการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้ขุนนางระดับสูงไปดูงานทางด้านการปกครอง การทำนุบำรุงประเทศที่ประเทศสิงคโปร์ ปีนัง ในราว พ.ศ. 2402 ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เพื่อนำมาดัดแปลงให้เหมาะสมกับเมืองไทย มิได้มีช่างชาวตะวันตกมาออกแบบควบคุมการก่อสร้างแต่อย่างใด

ลักษณะเด่นของอาคารนี้ที่มีลักษณะอิทธิพลแบบเมืองขึ้น คือ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา เอียงลาดมาด้านหน้าเป็นจั่วมุงกระเบื้อง (เป็นกระเบื้องใหม่) ไม่มีชายคายื่นจากผนังโดยรอบ ไม่มีกันสาดบังแดดฝนให้แก่หน้าต่างใช้ซุ้มโค้งครึ่งวงกลม ตรงชั้นล่างส่วนหน้ามุข มีบันไดทางขึ้นแยกเป็น 2 ทางขึ้นสู่จุดตรงกลางอาคาร

สถาปัตยกรรมตึกราชินี

รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของตึก “ราชินี” นี้เป็นรูปแบบที่เป็นที่นิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 4 คือ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สูง 2 ชั้น มีส่วนที่เป็นระเบียงติดกับพื้นดินรองรับส่วนหน้าของอาคารที่ สัมพันธ์กับพื้นดินที่เอียงลาดเป็นอาคารที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกแบบเมืองขึ้นเช่นเดียวกันหลังคาทรงปั้นหยายกจั่ว ส่วนหน้าของอาคารหันหน้าออกทะเล มีมุขยื่นออกมาทั้งชั้นล่างและชั้นบน ชั้นล่างบริเวณมุขเป็นผนังทึบ มีประตูรูปซุ้มโค้งตรงส่วนมุขชั้นล่าง โดยมีบานประตูรูปโค้งตามกรอบส่วนบนเป็นกระจก ส่วนล่างเป็นบานลูกฟักไม้

หน้าต่างบานคู่ ส่วนบนเป็นกระจกช่องแสง ลูกกรงและระเบียบเป็นปูนปั้นลูกมะหวดโดยเฉพาะส่วนเฉลียงระเบียงลูกกรงนั้นใช้เป็นทางสัญจรและที่รับลม  ซึ่งมีลักษณะเหมือนบ้านกงสุลอังกฤษและโปรตุเกสในระยะเวลาเดียวกัน ซึ่งนับเป็นรูปแบบเฉพาะตัวตามแนวความคิดของชาวตะวันตก เมื่อสร้างอาคารของคนในเขตร้อน และเนื่องจากการสร้างอาศรัยสถานนี้เพื่อเป็นที่พักผ่อนของชาวต่างประเทศ จึงแสดงให้เห็นแนวคิดทางตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อช่างไทย ในระยะเวลานั้น หรือกล่าวอีกอย่างคือ ช่างไทยออกแบบตามความต้องการของชาวต่างประเทศที่จะใช้อาคารนี้เป็นที่พักผ่อนชายทะเล

ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน 14 ตุลาคม 2539 ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนพิเศษ 50 ง ประกาศวันที่ 18 ธันวาคม 2539

ตำแหน่งที่ตั้ง หมู่ที่ 4 ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

ที่มา หนังสือ คู่มือคลังวัฒนธรรมชุมชนอ่างศิลา ชลบุรี

หมวดหมู่ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้

ตลาดเก่า “อ่างศิลา 2419”

ตลาดเก่า “อ่างศิลา 2419” เดิมตลาดอ่างศิลา มีการคมนาคมภายในหมู่บ้านมีถนนสายเดียว สร้างเมื่อสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2501 โดยร่วมกับชาวอ่างศิลา ซึ่งต่อมามีการสร้างถนน สายลงทะเลขึ้นอีกสายหนึ่ง ปัจจุบันมีจำนวนประชากรประมาณ 1,500 คน อาคารบ้านเรือนสองฝั่งถนน จำนวนประมาณ 180 หลัง ด้วยลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาในเขตอ่างศิลา ประกอบด้วยหินแกรนิต ซึ่งตำบลอ่างศิลานี้จะมีสีขาวนวลและสีเหลืองอ่อน มีความแกร่งมาก ทำให้เกิดเป็นอาชีพการทำ “ ครกหิน” และกลายเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้านชาวประมงอ่างศิลาในที่สุด ตลาดอ่างศิลามีของฝาก ของที่ระลึกที่เป็นผลิตภัณฑ์จากทะเล ซึ่งสินค้าที่สำคัญ คือ ครกหิน นอกจากนี้ยังมีผ้าทออ่างศิลา และอาหารที่น่าสนใจ ทั้ง อาหารทะเลสด แปรรูป รวมทั้งอาหารประเภทอื่นๆ

ตำแหน่งที่ตั้ง ตำบลอ่างศิลา เมืองชลบุรี ชลบุรี 20000

ที่มา แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566 – 2570) เทศบาลเมืองอ่างศิลา

หมวดหมู่ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้

วัดอ่างศิลา

เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดชลบุรี ที่ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับชุมชนชาวอ่างศิลา ตั้งอยู่บนเนินเขาติดถนนใหญ่ก่อนถึงทางแยกเข้าสู่ตลาดอ่างศิลา เป็นวัดที่มีพระอุโบสถอยู่ภายในวัดถึงสองหลัง ซึ่ง ชาวบ้านเรียกว่าพระอุโบสถใน (วัดอ่างใน) และพระอุโบสถนอก (วัดอ่างนอก)

จากหลักฐานที่ปรากฏในบริเวณพระอุโบสถใน เชื่อแน่ว่าวัดอ่างศิลาสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยพิจารณาจากข้อความอักษรขอมและไทยโบราณที่จารึกไว้ในใบเสมาด้านหน้าของพระอุโบสถ ซึ่งอ่านได้ว่าพระอุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2243 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. 2231 – พ.ศ. 2245) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ครองกรุงศรีอยุธยา รวมอายุของวัดอ่างศิลานับถึงปัจจุบันเกือบถึง 300 ปี นอกจากนั้นภายในบริเวณพระอุโบสถในยังมีหมู่เจดีย์ 3 องค์ ตั้งเรียงรายอยู่ทางด้านหน้าพระอุโบสถจากทิศเหนือไปหาทิศใต้เจดีย์องค์กลางนั้นเป็นองค์ที่เก่าแก่ที่สุดมีปล้องไฉนเป็นแป้นกลมซ้อนกันจากใหญ่ไปหาเล็กจนถึงปลายสุดของเจดีย์ อันเป็นสถาปัตยกรรมของกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันนี้พระอุโบสถในเป็นที่ประชุมสงฆ์และประกอบศาสนกิจตามพระธรรมวินัย

ส่วนพระอุโบสถนอกสร้างขึ้นในภายหลังไม่มีหลักฐานหรือเอกสารใดยืนยันว่า เหตุที่สร้างพระอุโบสถนอกขึ้นมาคู่กับพระอุโบสถในนั้นเพราะเหตุใด พระอุโบสถนอกเป็นสถาปัตยกรรมที่แตกต่างจากพระอุโบสถโดยทั่ว ๆ ไปอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ที่บริเวณหลังคาจะไม่มีช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์ แต่จิตรกรรมฝาผนังภายในของพระอุโบสถนอกนั้น ถือได้ว่าเป็นภาพที่วิจิตรพิสดารงดงามมากจัดเป็นงานศิลปะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเขียนโดยช่างเขียนวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิในปัจจุบัน) ชื่อ นายปลื้ม และนายแดง เมื่อ พ.ศ. 2368 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ข้อความที่จารึกไว้เป็นภาษาขอมและไทยโบราณพอจะสรุปความได้ว่า อุโบสถหลังนี้สร้างมาหลายปีแล้วจึงมีการเขียนภาพขึ้นภายหลัง ดังนั้นจึงเป็นข้อสันนิษฐานว่าพระอุโบสถนอกคงจะสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2360 ถึง พ.ศ. 2362 ซึ่งตรงกับรัชสมัยรัชการที่ 2 นับอายุของพระอุโบสถ นอกหลังนี้ได้ประมาณเกือบ 200 ปี

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นภายในพระอุโบสถนอกวัดอ่างศิลานี้ เขียนเป็นเรื่องพุทธประวัติจาก พระปฐมสมโพธิกถาทั้งหมด โดยเริ่มเขียนตั้งแต่ผนังด้านขวาของพระประธานเป็นภาพการอภิเษกของพระ เจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายา ต่อจากนั้นท้าวสหัสบดีพรหมได้อัญเชิญท้าวสันดุสิตเทวบุตรลงมา จุติในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา และดำเนินเรื่องเรื่อยไปตามพุทธประวัติ ภาพที่เขียนผนัง ด้านหน้าพระประธาน จะเป็นภาพตอนเจ้าชายสิทธัตถะนัดหมายกับนายฉันนะเพื่อเสร็จออกบรรพชา ภาพ ตัดพระเมาลี ภาพพบปัญจวัคคีย์ สำหรับผนังด้านทิศเหนือจะเป็นภาพตอนทรมานพระวรกายและตรัสรู้ ส่วนผนังด้านหลังพระประธานจะเป็นภาพปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สรุปได้ว่า เป็นภาพที่ อธิบายถึงพุทธประวัติที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งที่ปรากฏอยู่บนผนังของพระอุโบสถ

“ตำบลอ่างศิลานี้เป็นตำบลเล็ก มีประชาชนน้อย แต่มีวัดถึง 2 วัดติดกัน ซึ่งเป็นการไม่สะดวก แก่การบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะสงฆ์ เพราะการบูรณาปฏิสังขรณ์เสนาสนะนี้เป็นเรื่องใหญ่ คือ จะต้องมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกันและกันทั้งฝ่ายพระภิกษุและฝ่ายคฤหัสถ์จึงจะสำเร็จได้ ฉะนั้นจึงจะให้รวมกันเป็นวัดเดียวกันเสีย จะได้มีความสามัคคีพร้อมเพียงกันช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญก็จะน่าชมต่อไป ถ้าใครเห็นไม่สมควรก็ขอให้คัดค้าน ถ้าเห็นสมควรก็ให้สาธุขึ้นพร้อมกัน” สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรสา ทรงรับสั่งอยู่ถึง 3 ครั้ง ไม่มีใครคัดค้านแต่ประการใดมีแต่สาธุขึ้นพร้อมกันทั้ง 3 ครั้ง พระองค์จึงทรงรับสั่งให้พระวสุทธิสมาจาร (ขณะนั้นเป็น พระครูสุนทรธรรมรส) และพระภิกษุสามเณรไปช่วยกันรื้อถอนกุฎีสงฆ์วัดอ่างศิลานอก คัดเลือกเอา อุปกรณ์และสิ่งของที่ใช้ได้มาสร้างกุฏิวัดอ่างศิลาใน และยังทรงมีพระมหากรุณาถวายจตุปัจจัยร่วมสร้างกุฎีสงฆ์อีก 1,000 บาท ส่วนกระเบื้องที่มุงหลังคากุฏิสงฆ์นั้น ท่านพระยาสัจจาภิรมย์ (สรวง ศรเพ็ญ) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี น้อมนำมาถวายดังได้เห็นอยู่ในปัจจุบันคือ กุฏิสงฆ์หลังยาว 3 ห้องด้านทิศตะวันตก

ปี พ.ศ. 2512 พระครูวิมลสีลาภรณ์ (ขณะนั้นเป็นระครูธรรมธร พูลทรัพย์) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันได้จัดการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถนอกบริเวณหลังคาที่รั่วและส่วนอื่น ๆ จนสำเร็จลุล่วงด้วยดี

ปี พ.ศ. 2518 – 2520 ชาวอเมริกันท่านหนึ่งได้เข้ามาศึกษาค้นคว้าภาพจิตรกรรมฝาผนังของพระอุโบสถนอกเพื่อจัดทำเป็นผลงานไปเผยแพร่

ศาสนสถานที่เก่าแก่อีกอย่างหนึ่งของวัดอ่างศิลาคือ มณฑป อยู่ใกล้ ๆ กับพระอุโบสถนอก มีหลังคา 2 ชั้นซ้อนกัน มุมหลังคามีหัวนาคประดับอยู่ หลังคาชั้นบนสุดเป็นหน้าบันหรือหน้ามุข หันไปทั้ง 4 ทิศ เป็นเครื่องไม้มีลักษณะแปลก และมีเสาสี่เหลี่ยมอยู่รอบ ๆ ด้วยมณฑปสำหรับภายในนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองในอดีตมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ทั้งยืนและนั่งประดิษฐานอยู่เต็มมณฑปทั้ง ทรงเครื่องใหญ่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมากมายหลาย 10 องค์ แต่เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ประกอบกับทางวัดขาดความระมัดระวังปล่อยให้คนใจบาปมารศาสนางัดแงะขโมยไปหลายหน

สิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างหนึ่งของวัดอ่างศิลา คือ หลวงพ่อหิน ซึ่งประดิษฐานอยู่หลังพระอุโบสถนอก ตามประวัติเล่าว่าลอยน้ำมาชาวอ่างศิลาทั้งตำบลต่างเป็นลูกหลานท่าน

วัดอ่างศิลา เป็นวัดที่มีอดีตความเป็นมาอันเก่าแก่และมีจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นภายในพระ อุโบสถนอกที่ลักษณะสีค่อนข้างสดใสและงดงามยิ่ง ถึงแม้จะมีอายุมากกว่า 150 ปีแล้วก็ตาม เขียนเป็นเรื่องพุทธประวัติจากพระปฐมสมโพธิกถาทั้งหมด

ตำแหน่งที่ตั้ง หมู่ที่ 4 ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

ที่มา หนังสือ อ่างศิลาวันวาน…ถึงวันนี้ และ หนังสือ โครงการวัฒนธรรมไทย สายใยชุมชน ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

หมวดหมู่ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้

วัดเสม็ด

ภาพโบราณวัดเสม็ด ประวัติความเป็นมาได้ปรากฏอยู่บนแผ่นหินอ่อนที่จารึกข้อความเอาไว้ที่ด้านหน้า ของพระอุโบสถมีข้อความสำคัญที่สรุปได้คือ พระอุโบสถของวัดเสม็ดนี้ได้ก่อรากสร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2421 เมื่อเดือน 4 ขึ้น 11 ค่ำ วันศุกร์ ในสมัยที่สมภารจั่นเป็นเจ้าอาวาสวัดและผู้ที่เป็นช่างคือหลวงปลัดชู ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี นอกจากนี้แล้วภายในพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมสีน้ำมันพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่ด้วย ซึ่งภาพนี้พระสงฆ์ และผู้สูงอายุที่เกี่ยวข้องกับวัดเสม็ดกล่าวยืนยันว่าเป็นภาพที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แก่วัดเสม็ดในพระราชวโรกาสที่ทรงเสด็จมาประทับบริเวณชายทะเลอ่าง ศิลาซึ่งอยู่เลยจากวัดนี้เข้าไป

ตำแหน่งที่ตั้ง หมู่ที่ 3 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

ที่มา แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566 – 2570) เทศบาลเมืองอ่างศิลา

หมวดหมู่ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้

วัดโกมุทรัตนาราม

วัดโกมุทรัตนาราม เป็นวัดที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ เดิมเรียกว่า วัดหัวแหลม เนื่องจากบริเวณที่ตั้งวัด มีลักษณะเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล มีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่เศษ ภายในวัดมีบรรยากาศสงบและร่มรื่น มีต้นไม้น้อยใหญ่อยู่ทั่วบริเวณวัด ทั้งที่มีมาแต่เดิมและปลูกขึ้นมาใหม่เป็นวัดมหานิกายที่เคร่งครัดในการ ปฏิบัติธรรมเจริญกรรมฐาน ได้รับเลือกจากรมการศาสนาให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างวัดแรกของจังหวัดชลบุรีเมื่อ พ.ศ. 2517 เป็นเจ้าอาวาส ปัจจุบันมีพระภิกษุจำพรรษาอยู่ 13 รูป โดยมีพระครูพรหม สาจารย์ (พระอาจารย์พาน) เป็นเจ้าอาวาส

ตามประวัติเริ่มแรกเป็นเพียงสถานที่ปักกลดเพื่อปฏิบัติธรรมเจริญกรรมฐานของพระธุดงค์ชื่อ พระอาจารย์สาลี วัดเขาวัง จังหวัดราชบุรี ซึ่งธุดงค์มาปักกลดเป็นประจำทุกปีหลังออกพรรษาจนกระทั่งเจ้าจองที่ดินคือพี่สาวของจมื่นมหาสนิธ (บัวโกมุท) มหาดเล็กในรัชกาลที่ 6 เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในตัวพระอาจารย์สาลี จึงได้บริจาคที่ดินบริเวณที่เป็นหัวแหลมดังกล่าวให้ตั้งเป็นสำนักสงฆ์ พระอาจารย์สาลี พร้อมด้วยพระลูกศิษย์ ได้ดำเนินการปรับปรุงบูรณะพื้นที่สำนักสงฆ์หัวแหลมให้เจริญขึ้นเป็นลำดับ พระลูกศิษย์ที่เป็นกำลังสำคัญในการปรับปรุงบูรณะสำนักสงฆ์คือ พระอาจารย์พาน ซึ่งปัจจุบันคือ เจ้าอาวาสวัด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 สำนักสงฆ์หัวแหลมได้รับอนุมัติจากทางการให้ตั้งเป็นวัดขึ้น ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ สร้างพระอุโบสถเพื่อเป็นศาสนสถานขึ้นด้วยความศรัทธาของชาวอ่างศิลาและความมุ่งมั่นของท่านเจ้าอาวาสซึ่งทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ วัดหัวแหลมได้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว มีชื่อเสียงกิตติศัพท์ เลื่องลือในเรื่องของการปฏิบัติธรรมจนทำให้พระเถระผู้ใหญ่ในเมืองหลวงเห็นความสำคัญ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2512 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฎกษัตริยารามราชวรวิหารได้ เสด็จมาที่วัดหัวแหลม และได้พระราชทานชื่อวัดหัวแหลมใหม่ว่า วัดโกมุทรัตนาราม

ภายในวัดมีตำหนักพระสังฆราช ชื่อว่าหอเถราภิรมย์ เพื่อใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช (สมเด็จพระสังฆราช (จวน) เสด็จมาประทับจำวัดที่วัดโกมุทหลายครั้ง) นอกจากนั้นในปี พ.ศ. 2517 ประมุขทางศาสนาจากต่างประเทศได้เสด็จมาประทับที่วัดดังกล่าวนี้ด้วยคือ สมเด็จพระสังฆราชแห่งราชอาณาจักรลาว และท่านดาไลลามะจากธิเบต ในปี พ.ศ. 2519 วัดโกมุทรัตนารามได้สร้างสำนักปฏิบัติธรรมสาขาขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ ต.เหมือง อ.เมือง จ.ชลบุรี เนื้อที่ประมาณ 80 ไร่เศษ ชื่อสำนักสันติภักดิ์ มีพระมหาขาว รักขิโต เป็นผู้กำกับดูแล

ตำแหน่งที่ตั้ง ตำบลอ่างศิลา เมืองชลบุรี ชลบุรี 20000

ที่มา หนังสือ อ่างศิลาวันวาน…ถึงวันนี้ และ หนังสือ โครงการวัฒนธรรมไทย สายใยชุมชน ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ

ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ สร้างขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2534 โดยอาจารย์สมชาย เฉยศิริ เดิมสร้างเป็นศาลเจ้าขนาดเล็ก บนเนื้อที่ 200 ตารางวา ต่อมาด้วยบารมีแห่งองค์เทพเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ ทําให้ศิษยานุศิษย์ พ่อค้า และประชาชนที่ เคารพเลื่อมใส ร่วมบริจาคทุนสร้างศาลเจ้าหลังใหม่ขึ้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 โดยอาจารย์สมชาย เฉยศิริ เป็นผู้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยมีวัตถุประสงค์สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ครบรอบ 72 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้ระยะเวลาก่อสร้างกว่า 4 ปี บนเนื้อที่ 4 ไร่ เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2541 สมเด็จพระสังฆราชฯ เสด็จมาเป็นประธานพิธีเททอง หล่อพระพุทธ 7 องค์ และประทานนามศาลเจ้าแห่งนี้ว่า “วิหารเทพสถิตพระกิติเฉลิม” โดยมีการขยายอาคารและเนื้อที่ ประกอบด้วยอาคารหลัก จำนวน 3 หลัง และหอฟ้าดิน จำนวน 1 หลัง

ตำแหน่งที่ตั้ง 1/13 หมู่ที่ 5 ถนนอ่างศิลา-บางแสน ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 138-398381-4

ที่มา แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566 – 2570) เทศบาลเมืองอ่างศิลา

ชายหาด ตลาดประมง ท่าเทียบเรือ

ชายหาดอ่างศิลา, ตลาดประมงพื้นบ้านอ่างศิลา และท่าเทียบเรือประมงอ่างศิลา จะมีสินค้าท้องถิ่น และอาหารทะเลจำหน่าย โดยมีสินค้าที่สำคัญคือ ครกหิน และการแกะสลักหินเป็นรูปต่างๆ และท่าเทียบเรือประมงอ่างศิลา ซึ่งเดิมเรียกว่า สะพานหิน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ใช้เป็นท่าเทียบเรือประมงขององค์การ สะพานปลา ในเวลาเช้ามืดจะมีเรือประมงมาเทียบท่าที่สะพานปลา เพื่อขึ้นอาหารทะเลและจำหน่ายที่บริเวณสะพานปลา และส่งไปจำหน่ายทั่วไป ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงและสร้างขึ้นใหม่แทนของเดิมที่ชำรุด เสียหายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

ตำแหน่งที่ตั้ง ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

ที่มา แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566 – 2570) เทศบาลเมืองอ่างศิลา

หมวดหมู่ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

ภูมิปัญญาการประมงพื้นบ้าน

เรื่องย่อ ด้วยลักษณะของพื้นที่ตำบลอ่างศิลามีอาณาเขตติดต่อกับชายฝั่งทะเล การประกอบอาชีพประมงส่วนใหญ่เป็นการประมงชายฝั่งหรือการประมงพื้นบ้าน ส่วนมากทำประมงขนาดเล็กเพื่อเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวที่จับสัตว์น้ำด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การทำโป๊ะ อวนลาก อวนล้อม อวนลอย เลี้ยงหอยแมลงภู่ และหอยนางรม เป็นต้น

ชื่อภูมิปัญญาหรือชื่อเรียกในท้องถิ่น ภูมิปัญญาการประมงพื้นบ้าน

ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กลุ่มความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล

พื้นที่ทางวัฒนธรรม ตำบลอ่างศิลา

ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

การดำเนินวิถีชีวิตการประกอบอาชีพแบบชาวประมงตามรอยเดิมที่บรรพบุรุษสืบสานและทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป ทั้งรูปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงเรือ ชื่อ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของภูมิปัญญาการประมงพื้นบ้านของอ่างศิลา

ประวัติความเป็นมา

ส่วนใหญ่ชุมชนที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยแถบชายฝั่งทะเลมักมีอาชีพการทำประมงเป็นหลัก โดยมีทั้งทำการประมงสำหรับเลี้ยงชีพ และการประกอบอาชีพประมง การประมงพื้นบ้านอ่างศิลามีหลากหลายรูปแบบ เช่น การเพาะเลี้ยงหอยนางรม การเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ การเพาะเลี้ยงหอยหิน หรทอการจับสัตว์น้ำ มีหลายวิธี เช่น การจับปลา หรือช้อนปลา การจับปลาในช่วงเวลากลางคืน การตักแมงกะพรุน การจับสัตว์น้ำโดยใช้เครื่องมือขนาดใหญ่และจำนวนมาก เช่น การทำโป๊ะ อวนลาก อวนล้อม อวนลอย เป็นต้น ในการทำการประมงพื้นบ้านขึ้นอยู่กับดูกาลในการจับ หรือเพาะเลี้ยง

การสืบทอดการประมงพื้นบ้านของชาวอ่างศิลาเป็นการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ โดยมีสมบัติอันล้ำค่า คือ เรือสำหรับทำประมง อีกทั้งทั้งเป็นอาชีพที่ได้คลุกคลีมาตั้งแต่เด็กและมีความชำนาญ จึงทำให้คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง

ปัจจุบันยังมีการสืบทอดภูมิปัญญาการประมงตามขนบธรรมเนียมตั้งเดิมแต่ก็เป็นส่วนน้อย การปรับและพัฒนาให้มีใช้เครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกและปรับให้อุปกรณ์มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ เหมาะกับการประกอบอาชีพในปัจจุบัน มีเพียงส่วนน้อยที่ใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมเพื่อเลี้ยงชีพ นอกจากนั้นยังพบการประกอบอาชีพเกี่ยวกับอาหารทะเลอื่น เช่น อาชีพแกะหอยนางรมและหอยแมลงภู่

กระบวนการและขั้นตอน

กรรมวิธีการประมงพื้นบ้าน

การเพาะเลี้ยงหอย เป็นการเพาะเลี้ยงธรรมชาติ โดยพันธุ์มาจากจันทบุรี หรือระยอง มีการเริ่มเลี้ยงช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือเดือนธันวาคม ใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 8-10 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการขาย เนื่องจากตัวหอยมีขนาดโตเต็มที่

ลักษณะรูปแบบการเพาะเลี้ยงหอย มี 5 แบบ โดยแต่ละแบบมีความเหมาะสมกับการเลี้ยงหอยที่แตกต่างกัน ได้แก่

1) แบบตั้งร้าน ใช้ไม้ไผ่ทำแผงแบบปักยึดลงในทะเล มีระยะเพื่อที่จะสามารถแขวนหอยได้

การแขวนให้หอยไม่จมหรือลอยมากเกินไป เหมาะสำหรับเลี้ยงหอยนางรมและและแมลงภู่

2) แบบปักไม้ ใช้ไม้ไผ่ปักตรงลงในทะเล มีลักษณะเป็นแนวยาว เพื่อให้เกาะที่ไม้ เหมาะสำหรับเลี้ยงหอยแมลงภู่

3) แบบแพลอย มีลักษณะเป็นแนวยาว แพลอยน้ำมีทุ่นลอยเพื่อพยุงแพไว้ ใช้สมอปักหัวแพและท้ายแพ หรือปักหลักเพื่อไม่ให้ไหลไปตามกระแสน้ำขึ้นน้ำลง หรือไม่ให้ไหลไปตามกระแสน้ำ เหมาะสำหรับเลี้ยงหอยแมลงภู่

4) แบบผสมผสาน เป็นลักษณะแบบตั้งร้าน 2 ชั้น ชั้นที่อยู่ส่วนบนจะเลี้ยงหอยนางรม และชั้นที่อยู่ส่วนด้านล่างจะเลี้ยงหอยแมลงภู่5) แบบทุ่นลอยน้ำ ลักษณะจะเป็นทุนเดี่ยวแบบทิ้งสมอ จัดวางมีระยะและเป็นกลุ่ม บางแผงอาจพบทุ่นเดี่ยวลอยถึง 1000 ลูก เหมาะสำหรับเลี้ยงหอยแมลงภู่

คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ภูมิปัญญาที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตและความร่วมมือของชุมชน อีกทั้งเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญของพื้นที่

บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

จัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และร่วมกันปกป้องดูแลให้ทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ลูกหลานได้มีอาชีพของท้องถิ่นสืบทอดให้ภูมิปัญญาประมงพื้นบ้านได้คงอยู่ต่อไป

การส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

จัดตั้งกลุ่มสืบทอดอนุรักษ์สัตว์น้ำ โครงการอนุรักษ์ปู่ไข่ โครงการปลูกป่าชายเลนและเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้พื้นที่จริงให้ผู้สนใจเยี่ยมชม

หมวดหมู่ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

ภูมิปัญญาการทำผลิตภัณฑ์จากหิน

เรื่องย่อ ผลิตภัณฑ์จากหินของชาวอ่างศิลามีความโดดเด่นและขึ้นชื่อในแถบชายฝั่งทะเลตะวันออก และเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยความแข็งแรงทนทาน และเนื้อสีของหินที่มีความพิเศษมีเกล็ดประกาย คล้ายเกล็ดของเพชรเป็นลักษณะเฉพาะถิ่น คือสีขาว สีเหลืองมันปู สีเหลืองส้ม มีเกล็ดแวววาว คล้ายเกล็ดเพชร ปัจจุบันภูมิปัญญาการทำผลิตภัณฑ์จากหินใช้กรรมวิธีการผลิตแบบเครื่องมือสมัยใหม่เพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาด จึงทำให้ผู้สืบทอดกรรมวิธีเดิมสูญหายไป

ชื่อภูมิปัญญาหรือชื่อเรียกในท้องถิ่น ภูมิปัญญาแกะสลักหิน

ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม งานช่างฝีมือดั้งเดิม

พื้นที่ทางวัฒนธรรม ตำบลอ่างศิลา ตำบลเสม็ด ตำบลบ้านปึก

ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ครกและสากผลิตจากหินแกรนิต เป็นครกทรงกรม รูปทรงโค้งสวยงาม มีส่วนหูครก หรือส่วนสำหรับถือหรือจับได้สะดวก ความพิเศษของหินแกรนิตที่อ่างศิลา เนื้อเหนียวแน่น แข็งแรง และจะมีสีขาว สีเหลืองมันปู สีเหลืองส้ม มีเกล็ดแวววาว คล้ายเกล็ดเพชร หรือมีสีดำลายจุดสีขาว สีเทาลายจุดสีดำ หรือมีสีเขียวขี้ม้าอมเทา จุดสีดำ

ประวัติความเป็นมา

สมัยก่อนชาวบ้านได้ใช้ไม้มาทำเป็นครกเพื่อใช้ตำเครื่องแกง อาหารอื่น ๆ และตำเคย (กุ้งขนาดเล็ก) ที่หาได้จากทะเล เพื่อทำเป็นกะปิประกอบอาหาร หลังจากนั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีช่างชาวจีน นายเจ๊กฮั้ว แซ่ตั้ง เดินทางมารับจ้างทำเสาหินที่วัดอ่างศิลา และพบว่าหินบริเวณอ่างศิลามีความแกร่งทนทานสวยงามจึงนำหินที่เหลือจากการทำเสาวัดมาตีเป็นครก เพื่อใช้ในครัวเรือน และพบว่าครกที่ทำจากหินอ่างศิลาสามารถใช้งานได้ดี มีคุณภาพ ตำแล้วไม่มีเศษหินแตกออก จึงได้ทำออกขาขายในหมู่บ้านจนเป็นที่ยอมรับของประชาชนในตำบลอ่างศิลาและละแวกใกล้เคียง จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั่วไป จากปัจจัยทางธรรมชาติและปัจจัยจากมนุษย์ ทำให้ครกหินอ่างศิลาที่ผลิตขึ้นในแหล่งภูมิศาสตร์นี้ มีลักษณะที่แตกต่างจากครกหินที่ผลิตจากที่อื่น ด้วยรูปร่าง รูปทรง รวมทั้งลักษณะเฉพาะที่แตกต่าง คือ จะมีส่วนที่ใช้จับหรือยกเพื่อความสะดวกในการย้ายและทำความสะอาด เป็นหูสองหูตรงข้ามกัน การผลิตจะทำด้วยมือ โดยผู้มีฝีมือที่ชำนาญการสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

ด้วยโครงสร้างทางธรณีวิทยาประกอบด้วยหินอัคนี ประเภทหินแกรนิตและหินทราย หินแกรนิตที่ตำบลอ่างศิลามีสีขาวนวล สีเหลืองอ่อน แกร่งมากและทนทาน จึงนิยมมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ ครกหิน, ใบเสมาหิน, ลูกนิมิตหิน, สิงโตหิน, ศิวลึงค์, ป้ายสุสาน, พระพุทธรูป, หินประดับ และเครื่องตกแต่งสวน เป็นต้น ในปัจจุบันการสืบทอดภูมิปัญญาขาดช่วง และรอยต่อของผู้สืบทอด (ช่างแกะสลักหิน) ไม่ใช่เป็นคนอ่างศิลา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงความนิยมของอาชีพ เพราะอาชีพการแกะสลักหินมีกรรมวิธีที่ต้องใช้ระยะเวลาและแรงงานอย่างมาก รวมถึงหินอ่างศิลาไม่สามารถนำขึ้นมาใช้ได้เหมือนเมื่อก่อน เพราะเป็นพื้นที่อนุรักษ์และคุ้มครองตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ปัจจุบันจึงน้ำเข้าหินแกรนิตจากแหล่งอื่นแทน

กระบวนการและขั้นตอน

อุปกรณ์และเครื่องมือ ประกอบด้วย

1. ค้อนปอนด์

2. เหล็กสกัดชนิดต่างๆ ได้แก่ เหล็กที่มีปลายแหลม หรือเหล็กจ้ำ

3. เหล็กปลายเหลี่ยม หรือเหล็กแต้

4. เหล็กสับให้ละเอียด หรือเหล็กพง

5. เหล็กปลายแบน หรือเหล็กลิ่ม

6. เครื่องตัดเหล็ก ใบตัดเพชร (อุปกรณ์เครื่องมือสมัยใหม่)

7. หินขัด หินเจียร และน้ำมันวานิชเคลือบเงา

ขั้นตอนการทำครกหิน

1) การผ่า สกัดหิน ในสมัยก่อน ไม่มีการใช้ระเบิดในการระเบิดหินแต่จะใช้เครื่องมือที่คิดขึ้นจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น นำลิ่มมาเจาะรูลงบนหินให้เป็นแนวก่อน แล้วใช้ จ๋ำ (เหล็กสกัด) เจาะรูให้ลึกลงไป เป็นรูปสี่เหลี่ยม แล้วใช้เหล็กลิ่มอัด โดยใช้ค้อนใหญ่ตอกให้หินแตกออกมาเป็นก้อน ซึ่งในปัจจุบันใช้เหล็กชะแลงมีเครื่องเจาะ แล้วอัดดินระเบิดลงไปในแนวหิน แล้วระเบิดหินออกมา นำหินมาสกัดย่อยอีกครั้ง เพื่อให้ได้ขนาดตามช่างทำครกหินต้องการ หินก้อนหนึ่งใช้ทำครกหินจะวัดขนาดประมาณ 1 นิ้ว ถึง 12 นิ้ว (ครกขนาดเล็กที่สุดถึงขนาดใหญ่)

2) การขึ้นหุ่นครก แบ่งหินและใช้เหล็กปลายเหลี่ยม (เหล็กแต้) แต่งให้เป็นหุ่นครก

3) การแพะหน้า เขียนรูปทรงครกลงบนหินด้วยหมึกสีดำ ให้ได้ขนาดที่ต้องการ

4) การขุดครกและแต่งครก ใช้เหล็กพงสับผิวด้านนอกให้ละเอียด สกัดด้วยมือตามกรรมวิธีที่เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งเดิม แต่ในปัจจุบันใช้ใบตัดเพชรตัดเป็นร่องเล็กๆ แล้วสกัด (ตี) ให้เป็นรูปทรงครก

กรรมวิธีดั้งเดิม ใช้ค้อนตอกเหล็กสกัดต้องเผาไฟแล้วทำให้แหลม พอทู่ก็นำไปเผาไฟใหม่ โดยเตาเผาแต่เดิมใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงและใช้เครื่องสูบลม ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นใช้ไฟฟ้าหมดแล้ว ใช้เครื่องตอกตรงส่วนปลายที่แหลมจึงไม่ต้องเผาไฟ เมื่อตอกเป็นรูปครกแล้วใช้เหล็กสับ อาจเหลือหูไว้ 2 ข้างนิดหน่อยเพื่อให้สะดวกในการจับ

5) การขัดผิว ขัดผิวด้านในให้เรียบด้วยหินขัด

6) การทำสาก วิธีการจะนำหินจากแหล่งเดียวกัน และแบ่งให้เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามขนาดที่ต้องการ โดยมีสัดส่วนตามขนาดที่เหมาะสมกับครกและนำหินมาสกัดให้ได้รูปทรงกรวย ซึ่งมีปลายด้ามจับจะเล็กกว่าปลายสาก

คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิมีปัญญาทางวัฒนธรรม

คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ภูมิปัญญาบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของประวัติศาสตร์การพัฒนาบ้านเมือง ตลอดจนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญของพื้นที่

บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

จัดตั้งกลุ่มอาชีพครกหินอ่างศิลาและเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้สนใจเยี่ยมชม

ความภูมิใจในภูมิปัญญา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามรมราชกุมารี เสด็จทอดพระเนตรพระตำหนักมหาราช ตึกราชินี และเสด็จทอดพระเนตรการตีครกหิน ณ กลุ่มทำครกหินร้านรุ่งเรื่องศิลาทิพย์ โดยนายจร รุ่งเรืองศิลาทิพย์ ประธานกลุ่มเฝ้ารับเสด็จ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550

การส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

บริษัท รุ่งเรืองศิลาทิพย์ จำกัด ซึ่งเป็นร้านและแหล่งทำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับหินอ่างศิลาเดิม โดยเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้สนใจเข้าศึกษา วิจัย เพื่อเป็นการส่งเสริมเผยแพร่แหล่งเรียนรู้ในพื้นที่จริง

สนับสนุนจากหน่วยงาน หน่วยงานเอกชน

หมวดหมู่ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

ภูมิปัญญาการทำผ้าทออ่างศิลา

เรื่องย่อ ภูมิปัญญาการทำผ้าทอมืออ่างศิลา ในอดีตผู้ชายจะประกอบอาชีพประมง และผู้หญิงจะทอผ้าสำหรับใช้นุ่งห่มกันในครอบครัว และทำเพื่อจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้ ผ้าทออ่างศิลามีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงส่งเสริมสืบทอดและพัฒนาผ้าทออ่างศิลาจนมีชื่อเสียง ด้วยลักษณะของเนื้อผ้ามีความละเอียด แน่น สวยงาม จึงมีผู้คนนิยมใช้และซื้อเป็นของฝากปัจจุบันอาชีพผ้าทอได้เลิกไป เนื่องจากกรรมวิธีต้องใช้ระยะเวลาและไม่คุ้มกับแรงงานการผลิต จึงเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอาชีพทอผ้า ปัจจุบันมีกลุ่มฟื้นฟูผ้าทออ่างศิลาเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ ได้แก่ ศูนย์ผ้าทอมือคุณยายหง่วน บ้านมาบหม้อ ชลบุรี คุณเกษม อินทรโชติ ผ้าทอคุณย่าท่าน บ้านปีกชลบุรี และคุณศรีศักดิ์ แซ่เฮง กลุ่มผ้าทอมืออ่างหิน

ชื่อภูมิปัญญาหรือชื่อเรียกในท้องถิ่น ภูมิปัญญาการทำผ้าทออ่างศิลา

ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม งานช่างฝีมือดั้งเดิม

พื้นที่ทางวัฒนธรรม ตำบลอ่างศิลา, ตำบลบ้านปึก

ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมีปัญญาทางวัฒนธรรม

  • ใช้กี่ทอผ้าแบบกระดาษ
  • การหมักเส้นด้านด้วยกรรมวิธีการขยำข้าวสุกที่เป็นลักษณะเฉพาะของชาวอ่างศิลา
  • ลวดลายผ้าโบราณ ได้แก่
    • ลายตาสมุก
    • ลายดอกราชวัตร
    • ลายนกกระทา
    • ลายทางรอบตัว
    • ลายทางลง
    • ลายไส้ปลาไหล
    • ลายผ้าเชิง
    • ลายหางกระรอก
    • ลายตาหมากรุก
    • ลายตาตระแกง
    • ลายดอกพิกุล (เต็มดอกและครึ่งซีก)
    • ลายลิ้นโป้ว
    • ลายข้าวหลามตัด
    • ลายแตงโม

ประวัติความเป็นมา

ผ้าเช็ดปากหรือผ้าทออ่างศิลา

ผ้าทออ่างศิลาเป็นผ้าที่มีชื่อเสียงมาแต่โบราณทั้งผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ผ้าเช็ดปาก ผ้าโสร่ง ซึ่งเป็นผ้าฝ้าย โดยเฉพาะผ้าเช็ดปาก ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของคนทั่วไป ไม่เพียงคนในภาคตะวันออกเท่านั้น แต่เป็นที่นิยมของชาวพระนครด้วย ผ้าอ่างศิลานี้มีความเป็นมายาวนาน ส่วนใหญ่ทอผ้าเป็นผ้าพื้นมีลวดลายในเนื้อผ้า เช่น ลายดอกพิกุล ลายราชวัตร เป็นต้น โดยเฉพาะผ้าเช็ดปากนี้เป็นผ้าพื้นสีแดง เนื่องจากในอดีตยังนิยมรับประทานหมากผ้าเช็ดปากต้องเช็ดน้ำหมากซึ่งมีสีแดง เมื่อเปื้อนลงบนผ้าสีแดงก็กลมกลืนดูไม่เป็นสีด่าง จึงเป็นที่นิยมมาก นอกจากนี้ยังมีเนื้อผ้านุ่ม ซึ่งเป็นผลมาจากกรรมวิธีการหมักเส้นด้านที่เป็นกรรมวิธีเฉพาะของชาวอ่างศิลา จึงเหมาะแก่การเช็ดปาก

ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 7 ปีมะโรง โทศก จุลศักราช 1242 (พ.ศ. 2423) คราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเกาะสีชัง เมืองชลบุรี ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งมายังอ่างศิลา ซึ่งถือเป็นสถานตากอากาศสำคัญสมัยนั้น ในการนี้พระไพรัช พากย์ภักดี (ทวน บุนนาค) นำราษฎรเฝ้าอ่างศิลาทูลเกล้าฯ ถวายผ้าเช็ดปากผ้าทออ่างศิลา และได้เสด็จประพาสตลาดอ่างศิลา และวัดอ่างศิลา ดังความว่า

“เวลาตี 11 คืนนี้ ออกเรือพระที่นั่งเวลาตรีแต่เกาะสีชังมาอ่างศิลาโมงเศษ ถึงเวลาเช้า 2 โมง เสด็จทางเรือโบตพร้อมข้างใน ไปรับข้างในเรือนฤเบนทรแล้ว เสด็จขึ้นสะพานฉนวนอ่างศิลา พระไรรัชนำเฝ้าถวายผ้าพื้นผ้าเช็ดปาก แล้วเสด็จประพาสตลาดซื้อของต่างๆ แล้วอ้อมไปเข้าวัดอ่างศิลา แล้วกลับมาแวะทอดพระเนตรค่ายหลวง เสด็จขึ้นไปเก็บมะม่วงในสวนจนเช้า 3 โมงเสด็จกลับลงเรือ ขรัวยายอิ่มมาคอยเฝ้าอยู่ที่สะพาน แวะตรัสด้วยครู่หนึ่งเสด็จกลับ”

นับเป็นเกียรติประวัติของผ้าเช็ดปากของชาวอ่างศิลา ที่ครั้งหนึ่งเคยได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ ในเวลาต่อมาชาวบ้านอ่างศิลายังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเข้า ทรงอุปถัมภ์ชาวบ้านที่ทอผ้าอ่างศิลา เมื่อคราวที่เสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักที่ศรีราชา และต่อมาได้พัฒนาไปสู่การตั้งโรงทอจำหน่ายในวัง จนเป็นที่นิยมและรู้จัก “ผ้าทอ” อย่างแพร่หลายในหมู่ชาววัง

เรียบเรียงโดย อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

กระบวนการและขั้นตอน

อุปกรณ์การทอ ประกอบด้วย

1.กระดานหูก

ลักษณะ เป็นกระดานแผ่นใหญ่ที่ใช้ม้วนด้ายมาแล้วนำมาแขวนโตงเตง

ใช้สำหรับ ม้วนด้ายเส้นยืนเพื่อรอการทอต่อไป

2.กระดูกงู

ลักษณะ เป็นไม้เล็ก ๆ กั้นคางบนกับคางล่าง

ใช้สำหรับ ยึดฟืม

3.กระวิง

ลักษณะ เป็นการนำไม้ไผ่เหลาให้บางรวมเป็นแฉกดังรูป 2 ด้านมีแกนไม้ไว้หมุน

ใช้สำหรับ กอด้ายใส่หลอด ต้องใช้ร่วมกับไน

4.กระสม

ลักษณะ เป็นไม้หนาและกว้างเท่ากัน ความยาวเท่าดับความกว้างของกี่ทอผ้า

ใช้สำหรับ ใช้ม้วนผ้าที่ทอเสร็จแล้ว

5.กระสวย

ลักษณะ เป็นไม้แกะสลักขัดให้เรียบ ด้านหน้าเจาะร่องเพื่อใส่หลอด (หล

ใช้สำหรับ เป็นตัวนำด้าย (พุ่งด้าย) โดยนำหลอดเล็กเล็กใส่ในกระสวยแล้วพุ่ง

6.คางบนฟืม-คางล่างฟืม

ลักษณะ เป็นไม้ 2 ชิ้นที่ใช้น่องกระบือกับกระดูกงู เป็นตัวกั้นระดับไม่ให้เคลื่อนที่ หรือเป็นกรอบของฟันฟืมนั่นเอง

ใช้สำหรับ สอดฟันฟืมกระทบด้ายให้แน่น

7.ตับตะกอ

ลักษณะ เป็นเส้นด้ายที่เรียงเป็นดับมีไม้กลม ๆ (ไม้หัวหูก) เป็นตัวช่วยขึงบนและล่าง มี 2 ตับ

ใช้สำหรับ ร้อยต่อด้ายที่จะทอ เพื่อขั้นตอนการทอต่อไป

8.โตงเตง

ลักษณะ เป็นไม้ 2 อัน ส่วนบนที่ทำแขวนกับราว ส่วนล่างทำร่องเพื่อใส่กระดานหูก ส่วนปลายทำตะขอ เพื่อใส่ราวด้านล่าง

ใช้สำหรับ ยึดกระดานหูกเพื่อการส่งด้ายทอ

9.ไน

ลักษณะ เป็นไม้แบน ๆ 2 ชิ้น

ใช้สำหรับ กั้นคางบนกับคางล่างไม่ให้เคลื่อนที่

10.ฟันฟืม

ลักษณะ เป็นเส้นโลหะที่เสียบไว้ระหว่างคางบนกับคางล่าง

ใช้สำหรับ เพื่อแยกด้ายและเป็นตัวกระทบด้ายให้แน่น

11.ฟืม

ลักษณะ เป็นไม้แกะสลักลวดลาย แขวนไว้ประกอบด้วยฟันฟืม, สายฟืม, กระดูกงู

ใช้สำหรับ เพื่อเป็นตัวกระทบเส้นด้ายให้แน่น

12.เฝือ

ลักษณะ เป็นไม้ที่ใส่หลักเล็ก ๆ ห่างในระยะเท่ากัน มีมือลิงข้างละ 1 ตัว มีแกนกลาง

ใช้สำหรับ การค้นลายต้องใช้คู่กับรางหลออด

13.มือลิง

ลักษณะ เป็นไม้ที่ทำเป็นด้ามเสียบอยู่ที่ขี่เฝือซี่สุดท้าย

ใช้สำหรับ นับรอบการลากเฝือ

14.ไม้ขันหูก

ลักษณะ เป็นไม้เล็ก ๆ ที่สามารถขันชะเนาะสายหูกได้

ใช้สำหรับ ขันชะเนาะสายหูกให้ตึงหรือหย่อน

15.ระนัต

ลักษณะ เป็นไม้ไผ่เหลาให้แบน ขนาดกว้างประมาณ 2 ช.ม. 2 อัน

ใช้สำหรับ คั่นเส้นด้ายใต้กระดานหูก

16.รางหลอด

ลักษณะ เป็นกรอบไม้ยาว กว้างพอใส่หลอดยาวได้ เจาะรูเพื่อใส่แกนหลอดด้าย แขวนไว้เหนือเฝือ

ใช้สำหรับ การค้นลาย

17.ราวฟืม

ลักษณะ ทำด้วยไม้ไผ่ พาดไว้ที่กี่ด้านบน

ใช้สำหรับ แขวนฟืม

18.ลูกรอกฟืม

ลักษณะ เป็นลูกรอก 2 ตัวโยงตะกอไว้กับสายฟืม

ใช้สำหรับ ยึดตะกอ

19.สายฟืม

ลักษณะ เป็นสายโยงฟืมไว้ระหว่างราวฟืม ประกอบด้วยรอก 2 ตัว

ใช้สำหรับ ยึดและโยงฟืม

20.หลอดด้าย

ลักษณะ เป็นหลอด 2 ขนาด ใหญ่กับเล็ก

ใช้สำหรับ หลอดใหญ่กอต้ายไว้คันลาย หลอดเล็กกอด้ายไว้ทอผ้า

21.หวี

ลักษณะ ทำจากเส้นใยของตาล มามัดรวมกันหรือถัก

ใช้สำหรับ หวีเส้นด้าย

ขั้นตอนการทอ มีดังนี้

  1. การย้อมด้าย ผสมสีที่ต้องการลงในน้ำ (ควรใช้ภาชนะที่เลอะสึได้ เพราะล้างยากเช่น ปี๊บ) ต้มให้เดือดแล้วนำด้ายที่ซื้อมา ลงจุ่มให้ชุ่มสี แล้วน้ำขึ้นล้างด้วยน้ำสะอาด (ปัจจุบันซื้อเส้นด้ายสำเร็จพร้อมใช้
  2. การตากด้าย นำด้ายที่ย้อมสีแล้ว แขวนตากกับราวไม้ไผ่เพื่อให้ด้ายแห้ง ระหว่างนั้นต้องหวีไว้เพื่อให้

ด้ายเรียงเส้นดีไม่ติดเป็นกระจุก (ปัจจุบันซื้อเส้นด้ายสำเร็จพร้อมใช้งาน)

การขยำข้าวสุก (ในสมัยโบราณ)

การหวีด้าย เป็นการหวีด้ายให้เรียงเส้น ทั้งหวีเมื่อย้อมเสร็จและหวีในขณะทอ

การกอด้าย นำด้ายใส่ระวิง โยงมาที่ใน ใส่หลอดในเหล็กใน กอไปเรื่อยแต่ต้องให้ป้องกลาง

การค้นลาย นำด้ายหลอดใหญ่ใส่รางหลอด ตามลายผ้าที่คำนวณมา

การม้วนกระดูกหูกหรือพับกระดาษหูก เป็นการเตรียมด้ายเพื่อเข้าสู่กระบวนการสืบและทอต่อไป โดย

นำด้ายที่ลากใส่เฝือเสร็จแล้วมาเตรียมลาก ตอกหลักเพื่อลากด้าย และลากด้ายแล้วใช้กระดานม้วนโดย

ไม่ลืมใส่ไม้หัวหูก

การสืบ เป็นการจัดด้ายทีละเส้น ต่อด้ายกับตะกอ ร้อยเข้าฟืม

การทอ ต้องสัมพันธ์กันระหว่างมือ (กระสวย) กับเท้า (ตีนหูก) แล้วลากฟืนกระทบเพื่อให้ด้ายแน่น

ข้อมูลอ้างอิงจาก กองการศึกษา เทศบาลตำบลอ่างศิลา

สามารถรับชมขั้นตอนทั้งหมดได้ที่นี่ https://www.youtube.com/@kowitthali2165

คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

  • มีความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาและการสืบทอดมรดกของบรรพบุรุษ และผ้าทออ่างศิลาได้พัฒนาเป็นผ้าทรงพระมหากษัตริย์

บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

  • จัดตั้งกลุ่มสืบทอดอนุรักษ์และเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้สนใจเยี่ยมชมและศึกษาต่อยอดองค์ความรู้

การส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

  • การอนุรักษ์ ฟื้นฟู ภูมิปัญญาการทำผ้าทออ่างศิลา-บ้านปีก มีการจัดการองค์ความรู้ร่วมกับนักวิชาการ มีการอนุรักษ์สืบทอดลวดลายดั้งเดิม สร้างองค์ความรู้รื้อฟื้นลวดลายตั้งเดิมบางส่วนขึ้นมาใหม่ และต่อยอดพัฒนาลวดลาย ข้อมูลถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบ และการถ่ายทอดความรู้ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการวิสาหกิจชุมชน โครงการพัฒนาชุมชนและผลิตภัณฑ์ของชุมชน มีการพื้นที่ดำเนินกิจกรรม ทั้ง 2 ตำบลคือตำบลอ่างศิลาและตำบลบ้านปีก

สนับสนุนจากหน่วยงาน

กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือคุณยายหง่วน บ้านมาบหม้อได้รับการสนับสนุนจากโครงการวิสาหกิจชุมชน

สถานการณ์คงอยู่

เสี่ยงต่อการสูญหายต้องได้รับการส่งเสริมและรักษา

กลุ่มผู้สืบทอดและสมาชิก

ผู้สืบทอดมีกลุ่มฟื้นฟูภูมิปัญญาผ้าทอมือ 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือคุณยายหง่วน (บ้านมาบหม้อ) อำเภอเมืองชลบุรี นำโดยคุณริณรินจง เสริมศรี ณัฐวรา เทียนเหตุ คุณบุญเรือน ไวยบุรีและคณะ
  2. กลุ่มผ้าทอคุณย่าท่าน ตำบลบ้านปีก อำเภอเมืองชลบุรี นำโดยคุณเกษม อินทโชติ
  3. กลุ่มผ้าทอมืออ่างหิน นำโดยคุณศรีศักดิ์ แซ่เฮง ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี

การประสานงานกลุ่มเครือข่าย

1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือคุณยายหง่วน (บ้านมาบหม้อ) อำเภอเมืองชลบุรี นำโดยคุณรินจง เสริมศรี ณัฐวรา เทียนเหตุ คุณบุญเรือน ไวยบุรีและคณะ

ติดตาม หรือติดต่อ ที่เพจ Facebook ผ้าทอมือคุณยายหง่วน บ้านมาบหม้อ ชลบุรีและชุมชนบ้านมาบหม้อ ชลบุรี

ที่อยู่ พิพิธภัณฑ์ผ้าทอมือยายหง่วน-ยายไอ๊ (บ้านมาบหม้อ) เลขที่ 26/3 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านปีก อำเภอเมือง จังหวัด ชลบุรี

ตำแหน่งแผนที่ https://goo.gl/maps/xkyg5656M5NIFWF7

2. กลุ่มผ้าทอคุณย่าท่าน ตำบลบ้านปีก อำเภอเมืองชลบุรี นำโดยคุณเกษม อินทโชติ

ติดตาม หรือติดต่อ ที่เพจ Facebook ผ้าทอมือคุณย่าท่าน

ที่อยู่ ภูมิปัญญาทอผ้าคุณย่า บ้านปีก เลขที่ 20/3 หมู่2 ตำบลบ้านปีก อำเภอเมือง จังหวัด ชลบุรี

ตำแหน่งแผนที่ httos://goo.gl/maps/Dsf1UedWW&GoHRWK1A

3กลุ่มผ้าพอมือย่างหิน ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี นำโดยคุณศรีศักดิ์ แซ่เฮง

ติดตาม หรือติดต่อ ที่เพจ Facebook ผ้าทอมืออ่างหิน (อ่างศิลา) อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา ผ้าทอมืออ่าง

หน่วยงานประสานงานกลุ่มเครือข่าย สำนักงานเทศบาลเมืองอ่างศิลา

ที่อยู่ 90/338 หมู่ 3 ถนนเสม็ด-อ่างศิลา ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

ตำแหน่งแผนที่ https://goo.gl/maps/ktddgbiSoBdk6i8V19

ที่มา หนังสือ คู่มือคลังวัฒนธรรมชุมชนอ่างศิลา ชลบุรี

หมวดหมู่ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

ภูมิปัญญาแป้งท้าวยายม่อม

เรื่องย่อ เท้ายายม่อมเป็นพืชใช้ทำแป้งชนิดหนึ่งสำหรับทำอาหารหลายอย่าง ได้แก่ ออส่วน เต้าส่วน ขนมเทียนตาฟาง ขนมหัวผักกาด เป็นต้น ในอดีตชาวบ้านอ่างศิลาทำแป้งเท้ายายม่อมไว้ใช้ในครัวเรือน แต่ปัจจุบันมีแป้งชนิดอื่นที่ผลิตเป็นอุตสาหกรรมเข้าแทนที่และพื้นที่ในการปลูกลดน้อยลงเมื่อจากกรเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองจากของชุมชนชนบทลายเป็นชุมชนเมือง

ชื่อภูมิปัญญา หรือชื่อเรียกในท้องถิ่น ภูมิปัญญาแป้งท้าวยายม่อม

ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กลุ่มความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล

พื้นที่ทางวัฒนธรรม ตำบลอ่างศิลา ตำบลเสม็ด ตำบลบ้านปึก บางส่วนของตำบลห้วยกะปิ

ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

– เครื่องมือขูด หรือที่ฝนแป้ง ทำจากหนังปลากระเบน

– คุณสมบัติของแป้งเท้ายายม่อมเนื้อแป้งมันและลื่น มีความละเอียดมาก มีสีของแป้งขาว

– คุณสมบัติของแป้งเท้ายายม่อมเมื่อนำมาแปรรูปจะมีความใสและหนืด คงรูปอยู่ตัวได้นาน ไม่เหลว

– เป็นยาแผนโบราณสรรพคุณ บำรุงร่างกาย แก้อ่อนเพลีย แก้โรคบิด ท้องร่วง และโรคบวมน้ำ

สามารถรับชมได้ที่นี่ https://youtu.be/UzspDblGGqg

ประวัติความเป็นมา

สมัยก่อนเท้ายายม่อมเป็นพืชที่เคยมีอยู่ในชุมอ่างศิลาเกือบทุกบ้าน เป็นพืชที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นไม้ล้มลุกมีลักษณะชอบขึ้นบนที่ดินทราย อยู่ในร่มรำไรให้ต้นมะม่วง มะชาม และลำไยบ้าน หัวมันท้าวยายม่อมที่ได้จะสกัดให้เป็นแป้งเพื่อใช้ประกอบอาหารและทำขนมไทย ในอดีตชาวบ้านอ่างศิลาทำแป้งเท้ายายม่อมไว้ใช้ในครัวเรือน แต่ปัจจุบันเหลือชาวบ้านเพียงบางส่วนยังทำแป้งไว้ใช้ประกอบอาหารและทำเก็บไว้ใช้เป็นส่วนผสมหลักในงานเทศกาลประจำปีของชาวบ้าน ด้วยกรรมวิธีการทำมีความยุ่งยากและต้องใช้ระยะเวลามากชาวบ้านจึงหันไปใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าอุตสาหกรรมแทน อีกทั้งพื้นที่ในการปลูกลดน้อยลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองจากของชุมชนชนบทลายเป็นชุมชนเมือง

ข้อมูลเท้ายายม่อม

ชื่ออื่น : เท้ายายม่อม (ภาคกลาง); บุกรอ (ภาคใต้ตรัง, ตราด); ไม้เท้าฤษี, สิงโตดำ (กรุงเทพ), นางนวล (ระยอง)

ลักษณะของเท้ายายม่อม

ต้น จัดเป็นไม้ล้มลุก ส่วนที่อยู่เหนือดินมีความสูงได้ถึง 1.5 เมตร มีหัวใต้ดินสะสมอาหาร (ใช้ทำแป้ง) ลักษณะของหัวเป็นรูปกลม กลมแบน หรือรูปรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-4 นิ้ว ผิวด้านนอกบางเป็นสีน้ำตาล เนื้อในหัวเป็นสีขาว

ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนออกเป็นแนวรัศมี ใบมีขนาดใหญ่และเว้าลึก เป็นรูปฝ่ามือ ปลายแยกออกเป็นแฉก 3 แฉก แต่ละแฉกขอบมีลักษณะเว้าลึก ใบรูปฝีมือมีขนาดกว้างประมาณ 70 เซนติเมตร และยาวประมาณ 120 เชนติเมตร ก้านใบรวมกาบใบยาวประมาณ 20-170 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ก้านใบเป็นสีดำแกมเขียว

ดอก ดอกเป็นช่อแบบขี่ร่ม แทงช่อสูงออกมากหัวที่อยู่ใต้ดิน ดอกจะอกที่ปลายยอด ก้านดอกเป็นสีม่วงอมเขียวมีลาย ช่อดอกจะมีประมาณ 1-2 ช่อ แต่ละช่อจะมีดอกประมาณ 20-40 ดอก กลีบรวมเป็นสีเขียวอมเหลือง หรือสีเขียวอมม่วงเข้ม ปลายกลีบแหลม โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด เชื่อมติดกันเป็น 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง วงในเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ส่วนวงนอกเป็นรูปรีหรือรูปใบหอก แผ่นกลีบประดับเป็นสีเขียวเข้ม มีประมาณ 4-12 อัน เรียงเป็น 2 วง มีขนาดเกือบเท่ากัน ลักษณะเป็นรูปใช่ รูปใบหอก หรือรูปขอบขนาน มีชั้นใบประดับสีดำหรือสีม่วงอมน้ำตาลรองรับ มีประมาณ 20-40 อัน การออกดอกในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม

ผล ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปเกือบกลมหรือเป็นรูปทรงรี ปลายแหลมเรียว ผลห้อยลง ผลเป็นสีเขียว ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ที่ผิวเมล็ดมีลาย (เปรมจิต รองสวัสดิ์, 2562)

มุขปาฐะ หรือนิทานเรื่องเล่าเท้ายายม่อม

เรื่องมีอยู่ว่า ยายม่อม กับตาแม้น เป็นสามีภรรยากัน ตาแม้นเป็นชาวประมงท้องถิ่นออกเรือหาปลา จับกุ้ง งมหอย ส่วนยายม่อมทำขนมขายตลาดหนองมนหรือเปล่าไม่รู้นะ มีลูกด้วยกันคนหนึ่งเป็นลูกชายพิการ อยู่มาวันหนึ่งยายม่อมกลับจากตลาดโดนโจรใจร้ายปล้น ฆ่าหั่นศพทิ้งอย่างทารุณ เหลือเพียงนิ้วเท้า 6 นิ้ว ตาแม้นพอเห็นสภาพศพเมียก็แทบเป็นลม นำไปทำพิธีฌาปนกิจ ฝังไว้ที่ป่าช้า ตัวแกเองก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ ผ่ายผอมหัวโต ร่างกายทรุดโทรมป่วยไข้ไม่เป็นอันเลี้ยงดูลูกพิการ

จนวันหนึ่งแกคงเมามานอนร้องไห้คิดถึงที่ข้างหลุมศพยายม่อมจนหมดสติ สลบไป…ยายม่อมด้วยความรักผัว ความห่วงลูกพิการ เลยมาเข้าฝัน ปลอบอกปลอบใจตาแม้นว่าอย่าเสียใจไปเลย ให้เอานิ้วเท้าฉันนี่แหละไปทำมาหากินเลี้ยงลูกเถอะ พร้อมกับสอนวิธีทำแป้งให้ตาแม้นในฝันเสร็จสรรพเรียบร้อย พอตาแม้นฟื้นขึ้นมาได้ก็เห็นข้างๆ ตัวมีหัวพืช กลม ๆ ตกอยู่ 6 หัว เลยเลือกหัวใหญ่ที่สุดมาทำอาหารกินจนตัวเองมีเรี่ยวแรงมีกำลังวังชาขึ้นมาได้ ที่เหลือนำไปปลูกตามที่เมียบอกในฝัน เพาะพันธุ์เท้ายายม่อม ทำแป้ง ทำขนผมเลี้ยงลูกชายพิการได้ดลอดรอดฝั่ง (สมิทธิชัย สุกปลั่ง, 255,2250)

กระบวนการและขั้นตอน

อุปกรณ์และเครื่องมือ ประกอบด้วย

1. ภาชนะใส่น้ำและใส่หัวท้าวยายม่อม

2. เครื่องมือขูด หรือที่ฝนแป้ง ทำจากหนังปลากระเบน หรือตะแกรงเหล็ก

ขั้นตอนการทำแป้งท้าวยายม่อม

1. ล้างทำความสะอาดและนำหัวเท้ายายม่อมมาปลอกเปลือก

2. นำหัวท้าวยายม่อมมาฝนบนหนังปลากระเบนที่ทำเป็นที่ขุด

3. นำแป้งที่ได้มาล้างด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำหมักภูมิปัญญาชาวบ้าน (น้ำฝนเก็บในโอ่ง) ล้างและกรองด้วยผ้าขาวบาง 2-3 รอบ

4. ตั้งให้ตกตะกอน โดยทิ้งไว้ 1 คืน เนื้อแป้งจะอยู่ด้างของภาชนะ

5.หลังจากนั้น เทน้ำทิ้ง (นำตะกอนที่ได้มาทำความสะอาดอีกครั้ง หรือทำความสะอาดน้ำที่ใช้ล้างตะกอนมีลักษณะใส)

6. นำแป้งที่ได้มาตากแดดให้แห้งและจะได้เนื้อแป้งที่ขาวสะอาด และละเอียด

7. เก็บในภาชนะบรรจุภัณฑ์เพื่อรอการนำไปใช้ประกอบอาหารต่อไป

สามารถรับชมขั้นตอนการทำได้ที่นี่ https://youtu.be/7FcyG662olA

คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปีปัญญาทางวัฒนธรรม

คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

  • ภูมิปัญญาที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตและความร่วมมือของชุมชน อีกทั้งเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญของพื้นที่

บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

  • จัดตั้งกลุ่มสืบทอดและเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้สนใจเยี่ยมชมและศึกษาต่อยอดองค์ความรู้สู่ผลิตภัณฑ์บ้านสวนกานต์รวี แป้งท้าวยายม่อม

ความภูมิใจของกลุ่มภูมิปัญญา

รับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวัสสา อัยยิกาเจ้า ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 9 กันยายน 2563

การส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

มีการจัดเก็บข้อมูลถ่ายทอดความรู้ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองชลบุรี รายการเคเบิลทีวี รายการโทรทัศน์ อื่นๆ โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสวนกานต์รวีผลไม้แปรรูปเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้สนใจเข้าศึกษา วิจัย เพื่อเป็นการส่งเสริมเผยแพร่แหล่งเรียนรู้ในพื้นที่จริง

สนับสนุนจากหน่วยงาน

หน่วยงานเอกชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสวนกานต์รวีผลไม้แปรรูป

สถานภาพปัจจุบัน

สถานการณ์คงอยู่

มีการปฏิบัติอย่างแพร่หลาย แต่ปัจจุบันสภาพของชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงจากชุมชนชนบทกลายเป็นชุมชนเมือง จึงทำให้พื้นที่สำหรับการปลูกแป้งท้าวยายม่อมลดน้อยลงไป

กลุ่มผู้สืบทอดและสมาชิก

ชื่อ คุณกานต์รวี อินทโชติ

กลุ่มสืบทอด ภูมิปัญญาแป้งท้าวยายม่อม

การประสานงานกลุ่มเครือข่าย

1) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสวนกานต์รวีผลไม้แปรรูป ตำบลบ้านปีก อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี นำโดยคุณกานต์รวี อินทโชติ

ติดตาม หรือติดต่อ ที่เพจ บ้านสวนกานต์รวี หรือ facebook.com/Kanrave2560

2) หน่วยงานประสานงานกลุ่มเครือข่าย สำนักงานเทศบาลเมืองอ่างศิลา

ที่อยู่ 90/338 หมู่ 3 ถนนเสม็ด-อ่างศิลา ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดขลบรี

ตำแหน่งแผนที่ https://goo.gl/maps/ktddgbiSoBdK618V19ที่มา หนังสือ คู่มือคลังวัฒนธรรมชุมชนอ่างศิลา ชลบุรี

หมวดหมู่ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

ภูมิปัญญาการทำกะปิ

เรื่องย่อ องค์ความรู้การถนอมอาหารให้ยาวนานขึ้นของชุมชนชาวทะเลที่อาศัยแถบชายฝั่งติดกับทะเล โดยนิยมนำมาเป็นเครื่องปรุงประกอบอาหารได้ลากหลาย ส่วนมากทำกันในครัวเรือนหากมีจำนวนมากจึงนำออกเพื่อขาย กะปิจะมีลักษณะแตกต่างกันทั้งรสชาติและลักษณะเนื้อกะปิ ซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุดิบและกรรมวิธีผลิตของแต่ละพื้นที่ ปัจจุบันเหลือผู้สืบทอดรุ่นสุดท้ายและยังไม่มีผู้สืบทอดต่อ ส่วนน้ำปลาได้เลิกทำไปและขาดผู้สืบทอด

ชื่อภูมิปัญญา หรือชื่อเรียกในท้องถิ่น ภูมิปัญญาการทำกะปิอ่างศิลา

ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กลุ่มความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล

พื้นที่ทางวัฒนธรรม ตำบลอ่างศิลา

ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

– ใช้กุ้งเคยปี แถบชายฝั่งติดกับทะเลอ่างศิลา หรือชายฝั่งทะเลตะวันออก ในช่วงฤดูหนาว

– คุณสมบัติของกะปิมีกลิ่นหอม ไม่มีกลิ่นคาว เนื้อละเอียด

ประวัติความเป็นมา

ถึงแม้ว่าอาชีพการทำประมงจะเป็นอาชีพหลักของชุมชนอ่างศิลา แต่ก็มีอีกหนึ่งอาชีพต่อจากการทำประมง คือ การทำกะปิ น้ำปลา ซึ่งเป็นวิธีการถนอมอาหารให้สามารถเก็บและยืดอายุอาหารได้นานมากขึ้น รวมถึงเก็บไว้ทานได้ทุกช่วงดูกาล เดิมคุณแม่เปา พูนศิริมงคลชัย หรือแม่ละม่อม ได้ประกอบอาชีพทำน้ำปลาและกะปิตั้งแต่แรกเริ่ม โดยใช้พื้นที่บริเวณบ้านในการทำน้ำปลา กะปิ โดยน้ำปลาจะเป็นหัวใจของครอบครัวที่มีการผลิตจำนวนมาก ส่วนกะปิจะแค่รายปีเท่านั้น ในสมัยนั้นผลิตภัณฑ์กะปิ น้ำปลาของแม่ละม่อมเป็นที่รู้จักของคนในชุมชนตลาดเก่าอ่างศิลาและเป็นที่ต้องการในพื้นที่ใกล้เคียง

แต่ก่อนที่ลุงเปี๊ยกจะรับช่วงต่อประมานห้าสืบ หรือทกสิบปีก่อน มีการทำกันกันกันในครอบครอบครัว โดยมีพี่สาว ลุง ญาติพี่น้อง อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ต่อมาลุงเปี๊ยก หรือทวัฒชัย พูนศิริมงคลชัยได้แยกครอบครัวออกมาและนำภูมิมีปัญญาการทำกะปิติดตัวมาด้วย เพื่อประกอบอาชีพประมาณสามสิบปี เหตุผลที่ในใต้นำภูมิปัญญาการทำน้ำปลามาทำด้วย คือ กรรมวิธีการทำมีความยุ่งยากมากกว่ากะปิ น้ำปลาใช้ระยะเวลาเป็นปีขึ้นไป กว่าจะได้รสชาติที่มีคุณภาพ อีกทั้งสมัยก่อนวัตถุดิบหามาทำค่อนข้างง่ายและราคาไม่แพง แต่ปัจจุบันวัตถุดิบราคาสูงมาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติทำให้จำนวนกุ้งเคยลดน้อยลงไป และความสมบูรณ์ของกุ้งเคยที่มีคุณภาพน้อยลงตามไปด้วย ปัจจุบันการทำน้ำปลาไม่มีอีกแล้ว และลุงเปี๊ยกเป็นผู้สืบทอดรุ่นสุดท้ายและยังไม่มีผู้สืบทอดต่อ (ทวัฒชัย พูนศิริมงคลชัย, สัมภาษณ์, 11 ธันวาคม 2563)

ผลิตภัณฑ์ของกะปิลุงเปี๊ยกใช้ชื่อว่า “กะปิโบราณ แม่ละม่อม ตลาดอ่างศิลา 133 ปี” และได้มีการต่อยอดจากกะปิเป็น “น้ำปลากะปิ” ซึ่งน้ำปลาที่เกิดจากการคายน้ำของกะปี น้ำที่ได้จะมีกลิ่นนุ่มละมุนของกะปิ และมีรสชาติอร่อย

กระบวนการและขั้นตอน

ขั้นตอนการทำกะปิแม่ละม่อม

1.เริ่มจากการนำเกลือเทลงในถังพลาสติกในปริมาณที่พอเหมาะ

2.แล้วนำเคยเกลี่ยลงไปผสมกับเกลือที่เทไว้ในถังพลาสติก

3.หลังจากนั้นคลุกเคล้าตัวเคยกับเกลือผสมกันจนเข้าที่

4.จากนั้นนำเคยเปลี่ยนถ่ายใส่เข่งตะข่ายที่เตรียมไว้ให้เรียบร้อย

5.แล้วจึงนำเคยที่ใส่ลงไปในเข่งตะข่ายไว้แล้วไปทำการตากแดดประมาณ 5-6 วันจนตัวเคยเปลี่ยนสี

6.จากนั้นพอตัวเคยเปลี่ยนสีแล้วให้นำมาบดและปั้น เพื่อที่จะได้รู้ว่ากะปิเริ่มใช้ได้แล้วเมื่อกะปิจับตัวเป็นก้อน

7.แล้วน้ำมาบดให้เข้ากันอีกทีเพื่อเตรียมพร้อมที่จะนำไปหมักลงโอ่งโอ่ง

8.จากนั้นนำเคยที่บดละเอียดแล้วไปทำการหมักลงในโอ่งที่เตรียมไว้จนเต็มโอ่ง

9.แล้วใช้พลาสติกคลุมปิดแล้วนำฝ่ามาปิดโอ่งและระประมาณ 8-9 เดือนหรือ 1 ปีขึ้นไป

10.แล้วนำมาบรรจุใส่กระปุกพลาสติกพร้อมติดป้ายนำไปขายได้

สามารถรับชมขั้นตอนการทำได้ที่นี่ https://youtu.be/5stiZzQf9As

คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อมรดกภูมีปัญญาทางวัฒนธรรม

คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

  • ภูมิปัญญาที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิต อีกทั้งเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญของท้องถิ่น

บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

  • สนับสนุนกิจกรรมและผลิตภัณฑ์สินค้าของกลุ่ม

การส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

การส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

กิจกรรมส่งเสริมเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้สนใจเยี่ยมชมและขับเคลื่อนโดยผู้สืบทอดภูมิปัญญา คุณทวัฒชัย พูนศิริมงคลชัย

สนับสนุนจากหน่วยงาน

กิจกรรมสนับสนุนและขับเคลื่อนโดยผู้สืบทอดภูมิปัญญา คุณทวัฒวัฒชัย พูนศิริมงคลชัย

สถานภาพปัจจุบัน

สถานการณ์คงอยู่

เสี่ยงต่อการสูญหายต้องได้รับกรส่งเสริมและรักษา เนื่องจากเป็นผู้สืบทอดรุ่นสุดท้าย

กลุ่มผู้สืบทอดและสมาชิก

ชื่อ คุณทวัฒชัย พูนศิริมงคลชัย

กลุ่มสืบทอด ภูมิปัญญาการทำกะปิ

การประสานงานกลุ่มเครือข่าย

1) กลุ่มสืบทอด ภูมิปัญญาการทำกะปิ ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี นำโดยคุณทวัฒชัย พูนศิริมงคลชัย

ติดต่อ มือถือ 095-573-7253 หรือที่บ้าน 10/2 ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี

2) หน่วยงานประสานงานกลุ่มเครือข่าย สำนักงานเทศบาลเมืองอ่างศิลา

ที่อยู่ 90/338 หมู่ 3 ถนนเสม็ด-อ่างศิลา ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

ตำแหน่งแผนที่ https://goo.gl/maps/ktddobiSoBK6i8V19

ที่มา หนังสือ คู่มือคลังวัฒนธรรมชุมชนอ่างศิลา ชลบุรี